นอกจากสภาพร่างกายของทีมหมูป่าทั้ง 13 คนแล้ว เรื่องสภาพจิตใจก็สำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะเด็กๆ จิตแพทย์ กรมสุขภาพจิต แนะนำว่า หลังเจ้าหน้าที่พาเด็กออกมาจากถ้ำได้แล้วควรรีบให้เขากลับเข้าสู่สภาวะปกติ โดยครอบครัว คนใกล้ชิด และสื่อมวลชน ควรเลี่ยงสอบถามถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น
แม้สภาพร่างกายและจิตใจของ 13 คน ที่ติดภายในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ในคลิปขณะที่เจอเจ้าหน้าที่ดูแล้วไม่น่าเป็นห่วงมากนัก แต่ในมุมมองของจิตแพทย์เห็นว่ายังคงต้องดูแลเรื่องสุขภาพจิตใจอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ยังมีอายุระหว่าง 11- 16ปี และต้องห่างครอบครัวไปเผชิญอันตรายหลายวัน
แพทย์หญิงจันทร์อาภา สุขทัพภ์ รองผู้อำนวยการด้านการพัฒนาระบบสุขภาพจิตและจิตเวช สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า การที่เด็กต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่อันตรายในถ้ำที่มืดสนิท จะมีผลต่อสภาพจิตใจ และความเครียดของแต่ละคนต่างกัน โดยอาจส่งผลกระทบได้ทั้งด้านลบ คือ วิตกกังวล กลัวความมืด และด้านบวก คือนำประสบการณ์ที่พบมาสร้างเป็นพลัง หรือบางคนอาจมีทั้งด้านบวกและลบ หรือไม่มีผลเลย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพื้นฐานการเลี้ยงดู ความเข้มแข็งของเด็ก และการเยียวยาหลังจากนี้
โดยสิ่งแรกที่ควรทำเมื่อพวกเขาออกมาจากถ้ำแล้วคือการให้อยู่กับครอบครัวและทำให้ทุกอย่างกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด และทุกคนรวมทั้งสื่อมวลชน ควรเลี่ยงการสอบถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะจะเป็นการตอกย้ำให้เกิดความรู้สึกไม่ดีอีกครั้ง
แพทย์หญิงจันทร์อาภา ยังแนะนำว่าในโลกออนไลน์ควรหยุดวิพากษ์วิจารณ์กรณีที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการกล่าวโทษว่าใครถูกผิด เพราะสิ่งเหล่านี้จะกระทบทั้งสภาพจิตใจของเด็กและครอบครัว และการแสดงความเห็นควรเปลี่ยนเป็นการชื่นชมที่พวกเขาเอาตัวรอดได้ และการให้กำลังใจเด็กและเจ้าหน้าที่แทน