10 ตุลาคม 2558 วันสุขภาพจิตโลก สร้างศักดิ์ศรี สร้างคุณค่า ผู้มีปัญหาสุขภาพจิต (Dignity in mental health)

 
  ปัญหาสุขภาพจิต เป็นปัญหาที่ทั่วโลกตระหนักและเห็นความสำคัญ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา
     สหพันธ์สุขภาพจิตโลก (The World Federation Mental Health : WFMH ) ได้กำหนดให้เป็นวันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day: WMHDAY) เพื่อให้ประชากรทั่วโลกได้เห็นความสำคัญของสุขภาพจิตและการลงทุนเพื่อการป้องกันและบำบัดรักษาผู้ที่เจ็บป่วยทางจิตใจ
      โดย World Mental Health Day 2015 ได้กำหนดประเด็นรณรงค์ คือ Dignity in mental health  สร้างศักดิ์ศรี สร้างคุณค่า ผู้มีปัญหาสุขภาพจิต เพื่อสร้างความตระหนัก และส่งเสริมให้ผู้มีปัญหาทางสุขภาพจิตสามารถมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณค่า  รวมถึงมีกระบวนการทางกฎหมายที่สนับสนุนให้เข้าสู่การรักษา ได้รับการช่วยเหลือ ดูแล  ตลอดจนสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับ ครอบครัว  ชุมชน และสังคม ได้ 
การให้ผู้มีปัญหาทางสุขภาพจิตสามารถมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณค่านั้น สามารถใช้กลไกทั้งทางกฎหมาย ชุมชน สังคม อาทิเช่น 
      1.พระราชบัญญัติ สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 ซึ่งเกิดขึ้นเพื่อคุ้มครองปกป้องสิทธิของผู้ป่วยจิตเวช มุ่งเน้นมิติทั้งการส่งเสริม ป้องกัน รักษาและฟื้นฟู เพราะการดูแลผู้ป่วยไม่ใช่เพียงแค่การรักษาเท่านั้น แต่เมื่อผู้ป่วยหาย หรืออาการดีขึ้นแล้ว ต้องรักษาให้ครอบคลุมไปถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตเหมือนกับคนทั่วๆไป ในสังคมได้เป็นอย่างดี 
      2. การส่งเสริมให้ผู้มีปัญหาทางสุขภาพจิตสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ในชุมชนและสังคม ซึ่งจะมีระบบการส่งเสริมฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยในชุมชน ตัวอย่างเช่นการใช้นวัตกรรมในการบริการสุขภาพจิตชุมชนระบบ“ใกล้บ้านใกล้ใจ”    ซึ่งให้ประชาชนและชุมชนสามารถดูแลให้สามารถเข้าถึงบริการ ส่งเสริม ป้องกัน รักษาและฟื้นฟูได้อย่างเหมาะสม ด้วยการลดอคติของชุมชนที่มีต่อผู้ป่วยจิตเวช สร้างแกนนำที่ดูแลผู้ป่วย การสร้างสมรรถนะและศักยภาพของผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน  สิ่งเหล่านี้ช่วยให้ผู้ป่วยไม่กลับมารักษาซ้ำ สามารถอยู่ร่วมกับครอบครัวได้ สามารถดูแลตนเองและทำกิจวัตรประจำวัน สามารถประกอบอาชีพได้ นอกจากนั้นการสร้างงานสร้างอาชีพให้ผู้ป่วยกลับคืนใช้ชีวิตสู่สังคม ด้วยการการพัฒนาฝีมืออาชีพ อาทิเช่น การให้บริการในร้านกาแฟหลังคาแดง ร้านเพื่อนหลังคาแดง  ก็ทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างภาคภูมิใจ 
       3. การให้บริการทางจิตเวชและสุขภาพจิต ซึ่งผู้รับบริการที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม แม้ว่ามนุษย์จะมีความแตกต่างทางวัฒนธรรม แต่คุณค่าความเป็นมนุษย์ไม่แตกต่างกัน ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการส่งเสริมการอยู่อย่างมีคุณค่าและมีศักดิ์ศรี
        มนุษย์เราอาจเจอกับสภาวะปัญหาทางสุขภาพจิตได้ทั้งนั้น แต่เมื่อไหร่ที่พบกับปัญหาดังกล่าว มีกระบวนการทางกฎหมาย กระบวนการรักษา การดูแลทางชุมชน สังคม อย่างเท่าเทียมกับผู้อื่น ก็จะส่งผลให้ สามารถดำรงตนอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
 
เรียบเรียงโดย นางสาวกวิตา พวงมาลัย กองสุขภาพจิตสังคม กรมสุขภาพจิต
 

  View : 2.85K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 1,449
 เมื่อวาน 1,949
 สัปดาห์นี้ 3,447
 สัปดาห์ก่อน 13,224
 เดือนนี้ 22,854
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 815,505
  Your IP : 66.249.79.34