เด็กกับม็อบ-เดลินิวส์

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี สถาบันราชานุกูล

     เวลาที่มีการชุมนุมทางการเมือง บ่อยครั้งเรามักจะเห็นภาพพ่อแม่ผู้ปกครองพาบุตรหลานไปร่วมกิจกรรมด้วย อย่างการชุมนุมต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมที่ถนนราชดำเนินก็เช่นกัน ถามว่า ควรจะพาเด็กไปร่วมชุมนุมหรือไม่?
     พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข บอกว่า แม้การชุมนุมทางการเมืองครั้งนี้จะไม่มีความรุนแรง แต่ก็ไม่แนะนำให้พาเด็กไปร่วมการชุมนุม บางครอบครัวอาจมีข้อจำกัด ทิ้งลูกไว้ที่บ้านไม่ได้ เพราะไม่มีคนดูแล ดังนั้นจึงควรพิจารณาถึงความเหมาะสมตามอายุของเด็ก
      ถ้าลูกยังเล็กมาก พ่อแม่อาจจะต้องอดทน ไม่สามารถอยู่ร่วมการชุมนุมได้เป็นเวลานานหรือต่อเนื่องได้ เพราะว่าการดูแลลูกเล็ก ๆ ในพื้นที่แบบนั้นคงไม่เหมาะสม ดังนั้นก็ต้องเสียสละ คือ ลูกต้องมาก่อน
      เด็กโตขึ้นมาหน่อย 3-4 ขวบ อาจจะพอทนไปอยู่พื้นที่แอดอัดได้บ้าง แต่ไม่ได้อยู่เป็นระยะเวลายาวนานมาก เพราะสภาพบางอย่างไม่เหมาะกับการเรียนรู้ ดังนั้นการไปอยู่ในสถานที่ชุมนุม เด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ เราไม่แนะนำให้ไป เพราะมีทั้งเรื่องเสียง คำพูด อาจไม่เหมาะกับเด็ก
      สำหรับเด็กชั้นประถม พ่อแม่ต้องมีบางช่วงจังหวะพูดคุยกับลูก เพราะเด็กได้ยินอะไรรับได้หมด แต่แยกแยะไม่ได้ด้วยวัยของเขา
       แต่ถ้าเป็นวัยรุ่น เด็กอาจอยากจะไปหรือไม่อยากไป เขาอาจเห็นต่างจากพ่อแม่ การไปร่วมชุมนุมอาจเป็นโอกาสแลกเปลี่ยนกับพ่อแม่เรื่องแนวคิด เพราะวัยของเขากำลังพัฒนากรอบแนวคิดเรื่องสังคม เรื่องปรัชญา เรื่องความคิดต่อสถานการณ์แบบนี้ คิดเป็นหลักการ คิดอย่างมีเหตุมีผลได้ ต่างจากเด็กเล็กที่รับอย่างเดียว ไม่ได้กลั่นกรอง บางช่วงอาจจะอารมณ์พาไปสถานการณ์พาไป ดังนั้นวัยรุ่นเขามีสิทธิจะรับหรือไม่รับ ปฏิเสธ โต้แย้ง
      เด็กบางคนขึ้นเวทีปราศรัยเหมาะสมหรือไม่? พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า ก็เป็นช่องทางในการแสดงออกของเขา ถ้าเขาต้องการแสดงความคิดเห็น เวทีปราศรัยเป็นการเปิดพื้นที่ให้ได้แสดงออก แต่ต้องมีการพูดคุยกันต่อว่าหลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้น เขารู้สึกและคิดอย่างไร พ่อแม่ต้องระวังไม่ให้คนอื่นมาใช้ประโยชน์จากลูก เพราะบางทีเมื่อเด็กไปร่วมกิจกรรมการเมือง ผู้ใหญ่อาจจะพยายามใช้ประโยชน์บนความบริสุทธิ์ของเด็ก ดังนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองต้องดูแลและคุยกับเขา โดยเฉพาะการพูดจาปราศรัยนั้น ไม่จำเป็นต้องใช้คำหยาบคาย สามารถพูดคุยโดยใช้ภาษาที่สุภาพ ไม่ก้าวร้าว สร้างความรุนแรง แต่ต้องเรียนรู้การชุมนุมแบบสันติ ไม่ใช่เร้าอารมณ์เพื่อนำไปสู่การแตกหัก หรือความรุนแรง
      การที่พ่อแม่เลือกข้างทางการเมืองมีผลต่อเด็กอย่างไร? พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า น้ำหนักที่พ่อแม่พูดก็เอียงข้างแน่นอน เด็กมีแนวโน้มจะเอนเอียงตามพ่อแม่ แต่เมื่อเขาโตขึ้นจะมีแนวคิดของเขาเสมอ ซึ่งอาจจะคิดเหมือนพ่อแม่ หรือเปลี่ยนข้าง ปฏิเสธแบบรุนแรงก็ได้ หากเขารู้สึกว่าแนวคิดนั้นไม่ถูกต้อง ตรงนี้นำไปสู่บทเรียนการเรียนรู้ในครอบครัวว่า ความเห็น ความชอบพรรคการเมืองต่างกันได้
        ด้าน พญ.ปราณี เมืองน้อย จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ไม่ผิดหากคุณพ่อคุณแม่มีความเชื่อทางการเมืองแบบหนึ่ง และต้องการให้ลูกมีความเชื่อแบบเดียวกัน แต่การนำความคิดความเชื่อของผู้ใหญ่ใส่มือเด็ก โดยที่เด็กยังไม่สามารถคิดวิเคราะห์ได้เพียงพอ ก็เหมือนเป็นการระบายสีที่คุณชอบลงบนผ้าสีขาว โดยไม่เปิดทางเลือกให้เจ้าตัวน้อยได้ผ่านกระบวนการเติบโต เรียนรู้และค้นพบความเป็นตัวของตัวเอง เด็ก ๆ ควรมีโอกาสได้อ่านหนังสือ หาความรู้จากสื่อต่าง ๆ เพื่อค้นพบว่าเขามีรสนิยมทางการเมืองแบบไหน โดยมีผู้ใหญ่เป็นผู้ให้คำแนะนำด้วยเหตุผล ซึ่งจะทำให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้มากกว่าการชี้นิ้วบอกทาง
        เด็ก ๆ เรียนรู้จากการเลียนแบบพฤติกรรม มากกว่าคำสอนของคุณพ่อคุณแม่ ดังนั้นทุก ๆ การกระทำ ทุก ๆ คำพูดของคุณต่อหน้าเจ้าตัวน้อย เด็ก ๆ จะซึมซับและจดจำ แม้บางครั้งอาจไม่เข้าใจความหมายของสิ่งที่คุณกำลังพูด แต่เด็ก ๆ ก็จับอารมณ์และน้ำเสียงได้ โดยเฉพาะในการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองที่มีความเป็นไปได้ว่าอารมณ์ของคุณจะคุกรุ่นขึ้นเรื่อย ๆ ทุกครั้งที่พูด การควบคุมอารมณ์และระวังคำพูดต่อหน้าเจ้าตัวน้อยจึงเป็นสิ่งสำคัญ
       โดยเฉพาะเด็กวัยต่ำกว่า 12 ขวบ ที่พัฒนาการด้านอารมณ์และความคิดยังพัฒนาไม่เต็มที่ หากได้ยินได้ฟังการวิพากษ์วิจารณ์ที่เต็มไปด้วยอารมณ์ หรือเห็นภาพการชุมนุม การปราศัยที่ดุดันผ่านสื่อ เด็กจะไม่สามารถแยกแยะหรือจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองได้อย่างเหมาะสม ทำให้เด็กได้รับผลกระทบจากความตึงเครียดนี้จนอาจส่งผลให้เด็ก ๆ มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป งอแงมากขึ้น เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ขาดสมาธิในการเรียนหรือทำกิจกรรม จนไปถึงการเลียนแบบความรุนแรงทางวาจาหรือทางอารมณ์ของผู้ใหญ่
       สำหรับเด็กโต พ่อแม่ควรใช้โอกาสนี้เป็นตัวอย่างที่ดี โดยการศึกษาหาข้อมูลให้กระจ่าง เพื่อทำการแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นเหตุเป็นผล เพื่อให้ลูกเรียนรู้ว่าระบอบประชาธิปไตยการแสดงความคิดเห็นเป็นสิ่งที่กระทำได้ แต่เหนือสิ่งอื่นใด ก็ต้องกระทำอย่างเป็นเหตุเป็นผลด้วย.

 นวพรรษ บุญชาญ


  View : 2.96K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 799
 เมื่อวาน 1,376
 สัปดาห์นี้ 6,822
 สัปดาห์ก่อน 6,556
 เดือนนี้ 23,463
 เดือนก่อน 57,053
 จำนวนผู้เข้าชม 872,631
  Your IP : 17.241.227.148