ชั่วโมงทองของลูกน้อย

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี

        คุณพ่อคุณแม่มือใหม่เคยตั้งคำถามในใจไหมคะว่า ตอนช่วงที่ลูกอายุได้ไม่กี่เดือนจนถึง 1 ขวบนี้ จะสามารถพัฒนาทักษะอะไรให้เขาได้บ้าง? ถ้าคุณพ่อคุณแม่เป็นหนึ่งในคนที่ตั้งคำถามนี้ ก็ขอบอกก่อนเลยว่า สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องเกินจริง แต่แท้จริงแล้วคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ทุกคนควรจะเริ่มต้นตั้งคำถาม (และหาคำตอบ ให้ตัวเองก่อนที่เกินเวลาช่วงชั่วโมงทองนี้ไปเสียด้วยซํ้าค่ะ)
       ในสังคมนี้มีครอบครัวหลายแบบ ครอบครัวแบบที่เมื่อได้ยินได้ฟังโฆษณามากมายที่ชี้ชวนให้คุณพ่อคุณแม่ทำโน่นทำนี่ระหว่างตั้งครรภ์ ด้วยการจูงใจว่าลูกจะคลอดออกมาพร้อมกับความเป็นอัจฉริยะ ที่ในท้ายที่สุดเมื่อเด็กโตขึ้นแล้ว เขากลับเรียนได้พอ ๆ กับเพื่อน เล่นได้พอ ๆ กับเพื่อน และแนวโน้มคำว่าอัจฉริยะก็หลุดลอยหายไปเหลือไว้เพียงแต่ความคิดที่ว่าลูกเป็นอย่างนี้ก็ดีแล้ว ครอบครัวแบบที่เสนอให้ลูกทำทุกอย่างโดยไม่สนใจว่าลูกจะชอบหรือพร้อมจะทำหรือไม่ เพราะคุณพ่อคุณแม่มัวเอาลูกตัวเองไปเปรียบเทียบกับลูกเพื่อน หรือแม้กระทั่งครอบครัวแบบที่คิดว่าไม่ต้องผลักดันอะไรให้มากเลย เมื่อลูกโตขึ้นก็จะคิดขึ้นได้เอง
        ครอบครัวทั้งหมดที่กล่าวมานี้ รวมถึงครอบครัวที่อาจไม่ได้กล่าวถึง มีความต้องการที่เป็นพื้นฐานที่เหมือนกันก็คือ อยากให้ลูกมีพัฒนาการที่ดี เต็มตามความสามารถหรือถ้าเป็นไปได้ก็คงอยากได้ให้เหนือขีดขั้นความสามารถของคนอื่น ๆ ขึ้นไปอีก แต่อย่าลืมว่า สิ่งที่จะสร้างเสริมให้ลูกมีพัฒนาการที่เต็มตามศักยภาพนั้น คงต้อง  เริ่มตั้งแต่วินาทีที่ลูกลืมตามาดูโลก และการจะทำให้พัฒนาการดีขึ้นได้นั้น คงไม่มียาวิเศษตัวไหนที่จะเสกสรรค์ให้ลูกเป็นได้ภายในอึดใจเดียว แต่สิ่งเหล่านี้แน่นอนว่า ต้องใช้เวลาค่ะ
        เราเคยได้ยินเรื่องดนตรี เรื่องกีฬา เรื่องการรับประทานอาหาร เรื่องการนอนหลับ เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้พัฒนาการทางสังคม อารมณ์ และสติปัญญาของเด็กดีขึ้น ซึ่งเราก็มักจะคิดถึงสิ่งเหล่านี้เมื่อเด็กเริ่มโตขึ้นมากพอจะสื่อสารทางคำพูดกับคุณพ่อคุณแม่ได้ ส่วนใหญ่ก็คงเริ่มตั้งแต่วัย 3 ขวบขึ้นไป
       แต่หารู้ไม่ว่า จริง ๆ แล้วมีเทคนิควิธีการที่จะช่วยพัฒนาทักษะต่าง ๆ ทั้งเรื่อง ภาษา การใช้กล้ามเนื้อมือ การเข้าสังคม กระบวนการคิด รวมถึงการเคลื่อนไหวได้ตั้งแต่เด็กอายุยังไม่ถึงขวบ
       ทีมสหสาขาวิชาจากโรงพยาบาลเด็กแห่งมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ในสหรัฐได้ร่วมกันจัดทำโปรแกรมสำหรับเด็กวัย 0 เดือน จนถึง 1 ขวบ ที่เรียกว่า ชั่วโมงทองของการเล่น ซึ่งชั่วโมงทองที่ว่านี้จะครอบคลุมไปถึงทักษะที่จำเป็น 5 ด้านดังที่กล่าวมาแล้ว โดยใช้เวลา 1 ชั่วโมงต่อวัน โดยมองว่าทักษะของเด็กนั้นก็เหมือนกับคลื่นลมในทะเล
ถ้าเราพัฒนาไปด้วยกันเป็นอย่างดีแล้วล่ะก็ คลื่นทะเลนี้จะพัดเข้าฝั่งพร้อม ๆ กัน ปัญหาที่ว่าเด็กจะขาดทักษะบางอย่างก็จะน้อยลงไปด้วย แต่ในขณะเดียวกันแล้ว บางครั้งคุณพ่อคุณแม่จะพบได้ว่า มีทักษะบางอย่างที่นำหน้าเหนือทักษะอื่น ๆ ในแต่ละช่วงวัยนั่นเป็นเพราะในแต่ละเดือน เด็กจะมีพัฒนาการบางด้านที่เด่นขึ้นมา
       ดังนั้นก็เป็นหน้าที่คุณพ่อคุณแม่ที่จะต้องช่วยฝึกฝนทักษะนั้นด้วยนะคะ
ถึงตรงนี้แล้วคุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจมีคำถามว่า คุณพ่อคุณแม่ที่โดยปกติจะเล่นกับลูกอยู่แล้ว ชั่วโมงทองนี้จะช่วยอะไรได้บ้าง ขอตอบว่า จุดประสงค์ของชั่วโมงทองนี้ก็เพื่อคุณพ่อคุณแม่ใช้เวลา 1 ชั่วโมงเต็มกับลูกน้อย โดยไม่ว่อกแว่กไปสนใจอะไรอย่างอื่น เป็น 1 ชั่วโมงที่ช่วยสร้างสายใยแห่งความสัมพันธ์ ในขณะเดียวกันก็เป็น 1 ชั่วโมงที่ลูกจะสัมผัสได้ว่า เขาเป็นศูนย์กลางของความสนใจอย่างแท้จริง ความเชื่อมั่นนี้จะช่วยทำให้ลูกน้อยเกิดความเชื่อมั่นในตัวเอง และเชื่อมั่นในการทำหลาย ๆ สิ่งหลาย ๆ อย่างโดยใช้การประคับประคองช่วยเหลือของคุณพ่อคุณแม่ในระยะแรก แต่สิ่งที่เหนือไปกว่านั้นก็คือว่า เมื่อคุณพ่อคุณแม่ใช้หลักการชั่วโมงทองนี้แล้ว และมีบางสิ่งบางอย่างที่ผิดปกติเกิดขึ้น คุณพ่อคุณแม่จะสามารถสังเกตสิ่งที่ผิดปกติเกี่ยวกับตัวลูกได้ทันที โดยไม่ต้องรอไปถึงช่วง 3 เดือน หรือ 6 เดือน ซึ่งถือเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อแล้วนั่นเองค่ะ
ชั่วโมงทองของลูกน้อยจะเน้นทักษะ 5 ด้าน นั่นก็คือ
1. ภาษาและการสื่อสาร: เรียนรู้ให้ลูกเข้าใจและสื่อความหมายออกมาเป็นภาษาได้อย่างถูกต้อง
2. การเคลื่อนไหว: เน้นเรื่องการควบคุมศีรษะและร่างกาย เพื่อช่วยให้นั่งได้ตรง ยืนขึ้นได้ และเดินได้
3. การใช้มือ: การฝึกกล้ามเนื้อให้สามารถควบคุมมือและนิ้วได้
4. การคิด: รวมไปถึงการใช้ประสาทสัมผัสต่าง ๆ และกระบวนการเรียนรู้ด้านสติปัญญา
5. การเข้าสังคม: ลูกจะเข้าใจถึงการปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้
ส่วนของเล่นนั้นก็จะประกอบด้วยของไม่กี่อย่าง ซึ่งก็เชื่อว่า คุณพ่อคุณแม่ก็มีอยู่ติดบ้านอยู่แล้ว นั่นก็คือกระจก เราจะสังเกตได้ว่า หนึ่งในของเล่น (เสริมสร้างพัฒนาการเด็ก) จะต้องมีคือกระจก เพราะสำหรับเด็กเล็ก ๆ แล้ว กระจกช่วยให้เขามองตัวเอง ซึ่งช่วยในเรื่องของจุดสนใจ และช่วยกระตุ้นให้เขามีการสื่อสารกับคนรอบข้างได้ ส่วนเด็กโตจะชอบกระจกในการที่เห็นหน้าตัวเองและเห็นหน้าคุณพ่อคุณแม่ในกระจกด้วย
โมบาย สำหรับเด็กแบเบาะควรที่จะมีโมบายแขวนอยู่ในระยะประมาณ 1 ไม้บรรทัดเพื่อช่วยกระตุ้นทักษะทางการมองเห็นก้อนไม้นุ่มนิ่ม ช่วยสอนในเรื่องของการกระตุ้นการสัมผัส การจับยึด การเรียง
กรุ๊งกริ๊ง เสียงกรุ๊งกริ๊งจะช่วยกระตุ้นเด็กในเรื่องของเหตุและผล เมื่อไหร่ก็ตามที่เขาเขย่าเท่ากับเสียงเพลงต่าง ๆ งานวิจัยบางงานเปิดเผยว่า การฟังเพลงที่มีแต่ทำนองในจังหวะสบายจะช่วยพัฒนาเรื่องการคิดตรรกะ ในขณะเดียวกัน การที่คุณพ่อคุณแม่ร้องเพลงไปด้วยตบมือไปด้วย จะช่วยเรื่องการพูดและการเข้าสังคม
หนังสือและเรื่องเล่า ช่วยให้เด็กมีคลังคำศัพท์มากขึ้น พัฒนาการทางภาษาจะช่วยเชื่อมโยงไปยังเรื่องยาก ๆ เช่นคณิตศาสตร์ได้ต่อไป
ต้นเดือนหน้าจะมาเพิ่มเติมว่า เด็กในวัย 0-6 เดือนมีพัฒนาการที่เด่นด้านใดบ้าง และมีทักษะด้านใดบ้างที่ควรเสริมผ่านการเล่น รวมถึงคำตอบของคำถามที่ว่า เราจะสามารถสังเกตว่าลูกมีโอกาสจะเป็นออทิสติกได้ก่อน 6 เดือนจริงหรือไม่กันค่ะ.

อาจารย์ ดร.ปรียาสิริ วิฑูรชาติ
ศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล


  View : 1.44K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 0
 เมื่อวาน 13
 สัปดาห์นี้ 62
 สัปดาห์ก่อน 97
 เดือนนี้ 345
 เดือนก่อน 536
 จำนวนผู้เข้าชม 476,781
  Your IP : 18.227.228.95