ป้องกัน "กรวยไตอักเสบ" ในเด็ก

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
 
       การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะพบได้บ่อยในเด็ก โดยเฉพาะในช่วงอายุน้อยกว่า 1 ปี ในช่วงอายุ 6 ขวบปีแรก พบร้อยละ 6.6 ในเด็กผู้หญิง และร้อยละ 1.8 ในเด็กผู้ชาย
ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็นการติดเชื้อ ในระบบทางเดินปัสสาวะส่วนบน (ไตและกรวยไตอักเสบ) แต่ในเด็กเล็กอาจไม่สามารถแยกได้ชัดเจน จึงแบ่งเป็นการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะแบบมีไข้ และแบบไม่มีไข้ การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีไตและกรวยไตอักเสบ เป็นตัวบ่งชี้ว่าอาจมีความผิดปกติของทางเดินปัสสาวะตั้งแต่กำเนิด นอกจากนี้ อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว เช่น แผลที่ไต ความดันโลหิตสูง หรือไตทำงานบกพร่อง
      โรคนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อที่พบบ่อยมาจากทวารหนักและลำไส้ใหญ่ โดยเชื้อเข้าสู่ระบบทางเดินปัสสาวะผ่านทางท่อปัสสาวะ เข้ากระเพาะปัสสาวะและกรวยไต ผู้มีความเสี่ยง ได้แก่ เด็กที่เคยติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ เด็กที่มีความผิดปกติของทางเดินปัสสาวะ เช่น มีการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ มีการไหลย้อนของปัสสาวะกลับท่อไต ลักษณะอวัยวะเพศที่เอื้อต่อการหมักหมม เช่น เด็กผู้ชายที่มีหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศที่ยาวและรูเปิดตีบแคบ เด็กผู้หญิงที่ทีการเชื่อมต่อกันของเนื้อเยื่ออ่อนที่อวัยวะเพศ ชอบกลั้นปัสสาวะ และท้องผูก
      อาการของผู้ป่วยเด็กจะแตกต่างจากผู้ใหญ่ แบ่งตามช่วงอายุได้ ดังนี้  1.ทารกแรกเกิด อาการไม่ชัดเจนและไม่จำเพาะ เช่น ไข้ ดูดนมไม่ดี อาเจียนและถ่ายอุจจาระเหลว ปัสสาวะมีกลิ่นผิดปกติ น้ำหนักตัวไม่เพิ่ม เลี้ยงไม่โต ตัวเหลือง ซึม ร้องกวน หรือชัก 2.เด็กเล็ก อาการไม่ชัดเจน เช่น ไข้สูงโดยไม่มีอาการอื่น อุจจาระร่วง อาเจียน น้ำหนักไม่ขึ้น ปัสสาวะกระปริดกระปรอย เบ่งหรือร้องขณะปัสสาวะ 3.เด็กโต ไข้สูง หนาวสั่น ปวดบริเวณบั้นเอว หลัง หรือบริเวณหัวเหน่า ปัสสาวะบ่อยและขุ่น แสบขัด การวินิจฉัยโรคจำเป็นต้องใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
      หากอาการรุนแรงต้องให้ยาปฏิชีวนะ เพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรีย 7-10 วัน นอกจากนี้ รักษาตามอาการ เช่น ไข้สูง ควรให้ยาลดไข้และเช็ดตัวลดไข้ ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ หากขาดน้ำควรให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ หลังรักษาด้วยยาปฏิชีวนะครบแล้ว แพทย์จะนัดตรวจปัสสาวะซ้ำ
      การป้องกัน ทำได้ตั้งแต่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ รักษาความสะอาดและหลีกเลี่ยงการระคายเคืองบริเวณอวัยวะเพศ ไม่ควรใส่ผ้าอ้อมหรือชุดชั้นในที่รัดแน่นมาก หลีกเลี่ยงการกลั้นปัสสาวะ ดื่มน้ำให้เพียงพอ และควรกระตุ้นให้เด็กปัสสาวะเป็นระยะ ทุก 3-4 ชั่วโมง หลีกเลี่ยงท้องผูก เป็นต้น
 
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน  โดย ฝ่ายกุมารเวชศาสตร์  รพ.จุฬาลงกรณ์

ป้องกันกรวยไตอักเสบในเด็ก.pdf

  View : 13.52K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 989
 เมื่อวาน 1,986
 สัปดาห์นี้ 4,960
 สัปดาห์ก่อน 13,224
 เดือนนี้ 24,367
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 817,018
  Your IP : 72.14.201.155