วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก 10 กันยายน 2559

วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก 10 กันยายน 2559
Connect. Communicate. Care “สัมพันธ์ สื่อสาร ใส่ใจ ”
วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก ตรงกับวันที่ 10 กันยายน ของทุกปี องค์การอนามัยโลกกำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันสำคัญคือ วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก (World Suicide Prevention Day) โดยประกาศเป็นครั้งแรกเมื่อ ปี พ.ศ. 2546 โดย Themeของปี 2016: Connect. Communicate. Care “สัมพันธ์ สื่อสาร ใส่ใจ”
สถานการณ์ทั่วโลก องค์การอนามัยโลกประมาณการณ์ว่ามีกว่า 800,000 คนที่ตายจากการฆ่าตัวตายในแต่ละปี มีหนึ่งในคนทุก 40 วินาทีที่ฆ่าตัวตาย   จากข้อมูลสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าสถานการณ์ปัญหาการฆ่าตัวตายของประเทศไทย มีแนวโน้มเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้นจากปี 2558 มีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 6.47 ต่อแสนประชากร สูงขึ้นจากปี 2557 ที่มีอัตราอยู่ที่ 6.08 ต่อแสนประชากร  เฉลี่ยเดือนละ 350 คน หรือ ทุกๆ 2 ชั่วโมง มีคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน โดยผู้ชาย มีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นและสูงกว่าผู้หญิง 4 เท่า สำหรับปัจจัยและสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตาย อันดับหนึ่งได้แก่ ปัญหาความสัมพันธ์ รองลงมาคือ โรคทางกาย/โรคทางจิต และ ปัญหาเศรษฐกิจ/ตกงาน นอกจากนั้นพบว่า ประเด็นความรักความหึงหวง เป็นปัญหาความสัมพันธ์ที่ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของการทำร้ายตนเองมากที่สุดถึงร้อยละ 20 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รองลงมา คือ โรคซึมเศร้า และ น้อยใจคนใกล้ชิดดุด่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างกัน ซึ่ง0สอดคล้องกับการสำรวจสุขภาพจิต(ความสุข) คนไทย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ แยกตามองค์ประกอบหลักของสุขภาพจิต 5 ด้าน ได้แก่ด้านความรู้สึกที่ดีและด้านการมีความรู้สึกที่ไม่ดี ซึ่งเป็นองค์ประกอบของสภาพจิตใจและสมรรถภาพจิตใจ ด้านคุณภาพของจิตใจและปัจจัยสนับสนุน  จากผลสำรวจไตรมาสที่ 3 พ.ศ. 2558 พบว่าองค์ประกอบที่อ่อนแอที่สุดคือ สมรรถภาพของจิตใจ เป็นองค์ประกอบที่เกี่ยวกับการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นและการจัดการปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น ดังนี้การพัฒนาสมรรถภาพของจิตใจด้วยการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันโดยเฉพาะในครอบครัวจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ 
      ปัญหาการฆ่าตัวตาย เริ่มต้นป้องกันได้จากครอบครัว โดย
1. การมีสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน (Connect.) ไม่ห่างเกินไปและไม่ใกล้ชิดจนเกินไป สมาชิกมีความเป็นตัวของตัวเอง มีบทบาทหน้าที่ชัดเจน  
2. สื่อสารดีต่อกัน (Communicate.) การสื่อสารที่ดีควรเป็นการสื่อสารที่สื่อจากความรู้สึกของตัวเองโดยตรง เช่นบอกความรู้สึกความต้องการอย่างจริงใจ และถามความเห็นเพื่อแสดงให้เห็นว่าเราสนใจในความรู้สึกนึกคิด  แสดงความชื่นชมหรือขอบคุณเพื่อเสริมสร้างความรู้สึกที่ดีต่อกันและกัน นอกจากนั้นยังสามารถสื่อสารได้โดยไม่ใช้คำพูดเช่น มองหน้า สบตา การยิ้ม จับมือ โอบกอด การสัมผัส ก็จะช่วยสร้างพลังให้คนในครอบครัวได้ 
3. เอาใจใส่ซึ่งกันและกัน (Care.) ด้วยการให้เวลากับคนในครอบครัว ใช้เวลาในทำกิจกรรมร่วมกัน ใส่ใจสอบถาม ร่วมมือกันเมื่อเกิดความขัดแย้ง เมื่อคนในครอบครัวมีปัญหาและอุปสรรคเกิดขึ้น ก็พร้อมช่วยเหลือดูแล 
       นอกจากนั้น การสังเกตสัญญาณเตือนที่จะทำร้ายตัวเองไม่ว่าจะเป็นคำพูดหรือพฤติกรรม อย่ามองว่าเป็นการเรียกร้องความสนใจ หรือเรื่องล้อเล่น ให้มองเป็นความต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนที่ต้องทำทันที ด้วยการให้คำแนะนำอย่างจริงใจ ไม่ตำหนิหรือซ้ำเติม ให้กำลังใจสร้างความหวังว่าปัญหานั้นแก้ไขได้ คอยระวังอย่างใกล้ชิดให้อยู่ในสายตาและให้อยู่ห่างจากอุปกรณ์ที่เขาเตรียมไว้เพื่อทำร้ายตัวเอง แนะนำช่องทางในการให้คำปรึกษา เช่น สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือคลินิกให้คำปรึกษา หรือสถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อให้เขาเข้าสู่ระบบการช่วยเหลือโดยเร็ว 
      ดังนั้น การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มีการสื่อสารที่ดี เอาใจใส่ซึ่งกันและกัน จะช่วยป้องกันและลดปัญหาการฆ่าตัวตายในสังคม
 
 
เรียบเรียงโดย  กลุ่มงานพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพจิต กองสุขภาพจิตสังคม
 
 
 
 
 
 
 

แนะนำ แอปพลิเคชั่น สบายใจ.pdf
one page วันป้องกันฆ่าตัวตาย 2559.pdf

  View : 3.87K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 0
 เมื่อวาน 13
 สัปดาห์นี้ 62
 สัปดาห์ก่อน 97
 เดือนนี้ 345
 เดือนก่อน 536
 จำนวนผู้เข้าชม 476,781
  Your IP : 54.196.105.235