เด็กไทยเป็นโรคสมาธิสั้นกว่า 3 แสนคน

 เผยแพร่โดย ฝ่ายสื่อสารองค์กร กลุ่มพัฒนายุทธศาสตร์

        กรมสุขภาพจิตเผยเด็กวัยประถมไทยเป็นโรคสมาธิสั้นกว่า 300,000 ราย หรือประมาณร้อยละ 7 สาเหตุจากแม่สูบบุหรี่และดื่มเหล้าขณะตั้งครรภ์ เตือนผู้ปกครองไม่ควรละเลยเร่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หากปล่อยนานจะกลายเป็นคนก้าวร้าวสร้างปัญหาสังคม
        นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมช.สาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการตรวจเยี่ยมกรมสุขภาพจิตพบว่าอิทธิพลการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้ส่งผลต่อปัญหาทั้งด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตของประชาชนมากขึ้น   ในกลุ่มเด็กปฐมวัยพบว่ามีเด็กที่มีพัฒนาการไม่สมวัยมากถึงร้อยละ 30 ระดับความฉลาดทางสติปัญญาหรือไอคิวเฉลี่ย 98.59 จุด ซึ่งยังต่ำกว่าเกณฑ์ปกติที่อยู่ที่ 100 จุด ซึ่งในจำนวนนี้ร้อยละ 49 มีไอคิวต่ำกว่าปกติ และมีเด็กที่มีปัญหาสติปัญญาบกพร่อง คือ มีระดับไอคิวต่ำกว่า 70 จุด มากถึงร้อยละ 6.5 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานสากล 3 เท่าตัว ซึ่งกำหนดให้มีกลุ่มนี้มีไม่เกินร้อยละ 2 โรคที่น่าเป็นห่วงของเด็กไทย คือโรคสมาธิสั้นหรือโรคเอดีเอชดี หรือที่เรียกกันติดปากว่า โรคไฮเปอร์แอคทีฟ พบมากในเด็กชาย ทำให้ไม่สามารถจดจ่อกับอะไรได้นานๆ มีอาการหุนหันพลันแล่น อยู่ไม่สุข ควบคุมตัวเองไม่ได้   หากไม่รักษาตั้งแต่เด็ก จะมีผลต่อการเรียน ต่ออนาคตของเด็กเองและอาจถูกทำร้ายจากผู้ปกครองหรือญาติได้ จากความไม่เข้าใจ
       ผลสำรวจในกลุ่มเด็กไทยที่กำลังเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 -6 ที่มีจำนวนประมาณ 5 ล้านคน พบว่าเป็นโรคสมาธิสั้นร้อยละ 6.5 คาดว่าจะมีเด็กไทยป่วยเป็นโรคนี้ประมาณ 310,000 ราย ขณะที่ทั่วโลกพบเด็กเป็นโรคนี้ร้อยละ 5 ทั้งนี้จากรายงานของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์  พบว่า 2 ใน 3 หรือประมาณร้อยละ 70 ของเด็กที่ป่วย จะมีอาการจนถึงผู้ใหญ่ จะมีผลเสียต่อทั้งต่อเด็กและสังคม โดยพบว่า1 ใน 4 ทำผิดกฎจราจร มีบุคลิกก้าวร้าว อีก 1 ใน 10 มีปัญหาใช้สารเสพติด หรือมีปัญหาสุขภาพจิตถึงขึ้นพยายามฆ่าตัวตาย ซึ่งมีร้อยละ 5 ที่ฆ่าตัวตายได้สำเร็จ จึงได้มอบนโยบายให้กรมสุขภาพจิต เร่งเผยแพร่ความรู้เรื่องโรคและวิธีการสังเกตพฤติกรรมผิดปกติของลูกหลาน เพื่อที่จะพาไปรักษาตั้งแต่ยังเด็ก และรักษาหายขาดได้ โดยขณะนี้รพ.จิตเวชทุกแห่ง รวมทั้งรพ.ศูนย์ทุกจังหวัด สามารถให้การรักษาได้ 
    นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่าโรคสมาธิสั้น เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็กตั้งแต่ก่อนอายุ 7 ขวบ ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่แท้จริง แต่มักจะพบในผู้หญิงที่สูบบุหรี่ หรือดื่มเหล้าระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อพฤติกรรม อารมณ์ การเรียนและการเข้าสังคมกับผู้อื่นของเด็ก ไม่ใช่เด็กปัญญาอ่อน เด็กกลุ่มนี้จะมีระดับไอคิวปกติ อาการที่เป็นสัญญาณโรค จะปรากฏเห็นชัดเจน 3 อาการ ได้แก่ ขาดสมาธิ  ขาดความสามารถในการควบคุมตัวเอง และซุกซน  ส่วนใหญ่จะมีปัญหาการเรียน หรือเรียนได้แต่ไม่เต็มศักยภาพ  ดังนั้นจึงแนะนำให้ผู้ปกครองและครูที่ดูแลเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นเรียนรู้เทคนิคที่ถูกต้องเพื่อช่วยในการจัดการ กับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมบางอย่างของเด็ก การตีหรือการลงโทษทางร่างกายเป็นวิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ได้ผลและจะมีส่วนทำให้เด็กมีอารมณ์โกรธ
หรือแสดงพฤติกรรมต่อต้านและก้าวร้าวมากขึ้น   วิธีการที่ได้ผลดีกว่าคือ การให้คำชมหรือรางวัลเมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมที่ถูกต้องและเหมาะสม หรือควบคุมพฤติกรรมตนเองได้  โดยแนะนำให้งดกิจกรรมที่เด็กชอบหรือตัดสิทธิอื่น ๆ
    อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวต่อไปว่า  วิธีสังเกตว่าเด็กเป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่  สามารถดูได้จากการมีสมาธิ  เด็กจะไม่สามารถทำงานที่ครูหรือพ่อแม่สั่งจนสำเร็จ ไม่มีสมาธิในขณะทำงานหรือเล่น  มักไม่ค่อยฟังเวลาพูดด้วย วอกแวกง่าย ขี้ลืมบ่อยๆทำงานผิดพลาดบ่อย ทำของใช้หรือของส่วนตัวหายบ่อย  ในเรื่องของอาการซุกซน สามารถดูได้โดยเด็กจะมีพฤติกรรมยุกยิก อยู่ไม่สุข นั่งไม่ติดที่ หรือชอบนั่งโยกเก้าอี้  ชอบวิ่ง หรือปีนป่ายสิ่งต่าง ๆ  พูดมาก พูดไม่หยุด  ตื่นตัวตลอดเวลาหรือดูตื่นเต้นง่าย ชอบโพล่งคำตอบเวลาครูหรือพ่อแม่ถามโดยที่ยังฟังคำถามไม่จบ  

      หากพบว่าลูกหลานมีอาการเหล่านี้ ขอให้ปรึกษาจิตแพทย์ สามารถโทรสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือ 1667  หรือสอบถามที่สายด่วนวัยรุ่นของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ 02-248-9999 หรือดูในเวปไซต์ www.smartteen.net หรือที่แฟนเพจของสถาบันฯhttp://facebook.com/smartteen ตลอด24ชั่วโมง.


ขอขอบคุณที่มา : http://www.dailynews.co.th/thailand/171646 


  View : 9.48K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 8
 เมื่อวาน 1,846
 สัปดาห์นี้ 8,508
 สัปดาห์ก่อน 17,407
 เดือนนี้ 45,225
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 837,876
  Your IP : 136.243.228.181