การส่งเสริมสติปัญญาและความฉลาดทางอารมณ์ (IQ,EQ) ของเด็กสามารถสร้างเสริมได้จากการเลี้ยงดูตั้งแต่วัยทารก การเตรียมความพร้อมตั้งแต่ปฐมวัยจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของพัฒนาคนในชาติ สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต ได้พัฒนาชุดเทคโนโลยีในการช่วยพัฒนาทักษะการคิดคำนวณ การอ่าน และการพัฒนาอารมณ์ของเด็กไทยก่อนสายเกินแก้
จากสถานการณ์ปัญหาระดับสติปัญญาเด็กไทย(IQ) ยังเป็นเรื่องที่น่าห่วงและจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งล่าสุด ผลการสำรวจระดับสติปัญญาในปี พ.ศ. 2554 พบว่า มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 98.59 (ค่าเฉลี่ยปกติ 90 – 109) ซึ่งถือว่าเป็นค่าระดับสติปัญญาที่อยู่ในเกณฑ์ปกติแต่ค่อนไปทางต่ำ ซึ่งสอดคล้องกับคะแนนการสอบประเมินผลนักเรียนนานาชาติ ในปี 2555 พบว่า เด็กไทยมีทักษะทางด้านการคิดและการใช้ภาษาอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ดังเห็นได้จากผลสัมฤทธิ์การเรียนคณิตศาสตร์ การอ่านและวิทยาศาสตร์ มีคะแนนรวมอยู่ในอันดับที่ 50 จาก 65 ประเทศสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development – OECD ขณะที่ คะแนนความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) เฉลี่ยในระดับประเทศก็ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ คือ มีค่าคะแนนอยู่ที่ 45.12 จากค่าคะแนนปกติ 50-100
จากปัญหาการอ่านออกเขียนที่พบเป็นจำนวนไม่น้อยในเด็กวัยเรียนนั้น จำเป็นต้องอาศัยพ่อแม่ ครู หรือผู้ปกครองเด็ก โดยการส่งเสริมให้เกิดความรู้และความเข้าใจการพัฒนาทักษะด้านการคิดคำนวณ การใช้ภาษา และอารมณ์ของเด็กตั้งแต่ในช่วงปฐมวัย สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต จึงได้จัดทำชุดสื่อเทคโนโลยี “ส่งเสริมคิดคณิต...พัฒนาการอ่านเพิ่มศักยภาพเด็กไทย” เพื่อให้พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูเด็กได้นำไปใช้เป็นเครื่องมือหรือแนวทางในการส่งเสริมด้านสติปัญญาและอารมณ์ของลูกโดยผ่านการเล่นไปพร้อมๆกัน สิ่งที่เด็กได้ไปพร้อมๆกับพ่อแม่นั่น คือ ความสุข ซึ่งจะเป็นความสุขที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของมนุษย์ เกิดเป็นความรู้ที่หยั่งลึกและการจดจำความรู้สึกนึกคิดต่างๆได้ดี โดยเฉพาะในเด็กปฐมวัย เนื่องจากสมองเริ่มมีการพัฒนาตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ เมื่อคลอดออกมาจะมีเซลล์สมองเกือบทั้งหมดแล้วเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ สมองยังคงเติบโตไปได้อีกมากในช่วงแรกเกิดถึง 3 ปี เด็กวัยนี้จะมีขนาดสมองประมาณ 80 % ของผู้ใหญ่ หลังจากวัยนี้ไปแล้วจะไม่มีการเพิ่มเซลล์สมองอีกแต่จะเป็นการพัฒนาของโครงข่ายเส้นใยประสาท ในวัย 10 ปีเป็นต้นไปสมองจะเริ่มเข้าสู่วัยถดถอยอย่างช้าๆจะไม่มีการสร้างเซลล์สมองมาทดแทนใหม่อีก ปฐมวัยจึงเป็นวัยที่มีความสำคัญยิ่งของมนุษย์ ตลอดจนพัฒนาเทคโนโลยีสร้างเสริมทักษะชีวิตและทักษะสังคม (Social Story) รวมทั้งพัฒนาแบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์ 15 ข้อ เพื่อให้ครู/ผู้ดูแลเด็กในศูนย์เด็กเล็ก และพ่อแม่ได้ใช้ในการสังเกตทักษะทางอารมณ์ของเด็ก เพื่อปลูกฝังให้เด็กรู้จักอารมณ์ตนเอง อดทนรอได้ มีน้ำใจ รู้จักยอมรับผิด กระตือรือร้น สนใจใฝ่รู้ ปรับตัวได้ มีความพอใจ และมีความสนุกสนานร่าเริงตามวัยของเด็ก
ในการส่งเสริมและพัฒนา IQ EQ เด็กไทย จึงจำเป็นต้องพัฒนาทักษะ 3 ด้าน ได้แก่ ทักษะด้านการคิด การใช้ภาษา และทักษะด้านอารมณ์ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับชีวิต โดยต้องเริ่มฝึกตั้งแต่วัยทารก การฝึกทักษะด้านการคิด ผู้ปกครองสามารถฝึกทักษะให้แก่เด็กด้วยกระบวนการทางคณิตศาสตร์ (Pre maths skill) โดยผ่านการเล่น หรือกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่สนุกสนาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเลี้ยง ส่วนการฝึกทักษะการใช้ภาษา สามารถฝึกได้โดย ผ่านกระบวนการพูดคุย การอ่าน หรือใช้เรื่องเล่า (Social Story) สำหรับการฝึกทักษะด้านอารมณ์ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู/ผู้ดูแลเด็กในศูนย์เด็กเล็กควรสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับเด็ก ตลอดจนสังเกตทักษะด้านอารมณ์ของเด็กได้จากแบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์ 15 ข้อ ซึ่งมาจากแนวคิดการพัฒนาเด็กใน 3 ด้าน คือ ด้านดี ด้านเก่งและด้านสุข เพื่อนำไปใช้พัฒนาและส่งเสริมทักษะทางอารมณ์ในเด็กต่อไป