เปียโนเพื่อเด็กออทิสติก

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี

             การเล่นดนตรี ช่วยให้ร่างกายหลั่ง โดพามีน (Dopamine) สารแห่งความสุขที่มีผลต่อการสร้างอารมณ์ความพึงพอใจ ความปิติยินดี ความรักใคร่ชอบพอในสิ่งที่ทำ ทำให้เกิดความกระฉับกระเฉง มีสมาธิมากขึ้น เป็นผลดีต่อผู้ป่วยแทบทั้งสิ้น ปัจจุบัน สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ มหาราชินี (รพ.เด็ก) นำแนวความคิดในการใช้ดนตรีโดยเฉพาะ 'เปียโน' เข้ามาช่วยเสริมทักษะและพัฒนาการของเด็กในกลุ่มออทิสติก ภายใต้การดูแลของหน่วยงาน กลุ่มงานจิตเวชเด็กและวัยรุ่น 
          "เพื่อฝึกให้เด็กมีสมาธิในการทำสิ่งต่างๆ ได้นานขึ้น ช่วยเสริมทักษะด้านการจดจำ การปรับตัวเข้ากับสังคมและคนรอบข้างได้ดีขึ้นในอนาคต" พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก)  กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง จุดประสงค์การนำ 'เปียโน' มาใช้ในงานแพทย์ โดยนำรูปแบบการสอนเปียโน วัน ทู ไฟว์ (1 to 5) เข้ามาเริ่มสอนกับกลุ่มเด็กมากขึ้น พร้อมทั้งขยายผลเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ใหญ่ที่มีใจรัก ในเสียงเปียโนแต่ยังไม่กล้าเล่น ได้ลองสัมผัสและเรียนเป็นคอร์สสั้นๆ เพื่อนำค่าสมัครเรียนเป็นเงินบริจาคเข้าสมทบทุนของมูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก ในการสนับสนุนการจัดซื้อครุภัณฑ์และการพัฒนาทางการแพทย์เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพเด็กไทย และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กไทยในอนาคต โดยเฉพาะการจัดซื้อเปียโนให้เพียงพอต่อกลุ่มเด็กที่อยู่ในการดูแลรักษาของสถาบันฯ
          บุคลากรสำคัญ 3 คนที่เป็นเสมือนแรงผลักดัน ให้เกิดโครงการสอนเปียโน '1 to 5' ได้แก่ นพ.อภิชัย มงคล, อ.รัตโนทัย พลับรู้การผู้บุกเบิกและครูเปียโนคนแรกของสถาบันฯ และ อ.ตรีรัตน์ อุปถัมภ์โพธิวัฒน์ เจ้าของลิขสิทธิ์คนแรกของโลก และครูสอนเปียโนสำหรับผู้ใหญ่  "จากวันแรกที่ตัวเองคิดว่าไม่สามารถเล่น เปียโนได้ กลับกลายเป็นครูที่ทุ่มเทใจในการสอนเปียโนให้กับเด็กออทิสติกที่เข้ารับการพัฒนา ภายในสถาบันฯ" อ.รัตโนทัย กล่าว อ.รัตโนทัยเริ่มต้นเปิดสอนให้กับกลุ่มเด็ก ทุกวันพุธตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา
           "ปัจจุบันเด็กที่เข้ารับการพัฒนาผ่านการเล่นเปียโนมีประมาณ 30 คน เริ่มมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ทั้งเริ่มสนใจสิ่งรอบตัว สามารถกำหนดสมาธิได้ ในระยะหนึ่ง โดยเด็กแต่ละคนจะมีความพยายามและมีสมาธิในการเล่นเปียโนอย่างเห็นได้ชัด  แต่ในปัจจุบันทางสถาบันฯ ได้ขาดแคลนเปียโน เป็นจำนวนมาก โดยมีใช้เพียง 2 หลังเท่านั้น และ ไม่เพียงพอต่อจำนวนเด็กที่เข้ามาเรียนในแต่ละครั้งทำให้ทางสถาบันได้เปิดคอร์สพิเศษสำหรับผู้ใหญ่ในวันเสาร์ เพื่อนำค่าเรียนของผู้ใหญ่ไปเป็นค่าใช้จ่าย ในการเช่าเปียโนหรือจัดซื้อเปียโนสำหรับเด็กๆ" อ.รัตโนทัย กล่าว
          วารสารทางวิทยาการ 'ประสาทวิทยา'  ได้ศึกษาค้นคว้าและพบว่า นักเปียโนผู้มีชื่อเสียงที่สุดของโลก ล้วนเคยฝึกฝนทางด้านมาตราเสียงดนตรี และเล่นดนตรีให้ระดับเสียงต่อเนื่องกันมาตั้งแต่เด็กอายุยังไม่ถึง 10 ขวบ ซึ่งการ ที่เด็กเล็กได้ฟังเสียงดนตรี จะมีส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนาสมองส่วนที่เรียกกันว่า 'เนื้อขาว' และ 'ลำเส้นใยประสาท' เรียงตัวกันเป็นระเบียบมากขึ้น ช่วยในการสร้างพัฒนาการของระบบประสาท และร่างกายได้มากขึ้น
          อ.ตรีรัตน์ อุปถัมภ์โพธิวัฒน์ กล่าวเสริมว่า การเล่นเปียโนจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาและฟื้นฟูสมอง โดยได้รับการยืนยันตั้งแต่ปีค.ศ.1950  ว่าดนตรีบำบัดเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่ช่วยฟื้นฟูทางจิตใจได้เป็นอย่างดี
          "ตัวเองก็เป็นคนหนึ่งที่ได้สัมผัสความมหัศจรรย์ของเปียโน ที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาระบบความคิดของมนุษย์ ไม่เพียงแต่ในวัยเด็กเท่านั้น เพราะในวัยผู้ใหญ่ก็มีส่วนช่วยให้มีการพัฒนาระบบความคิดอย่างเป็นระเบียบเช่นกัน  ซึ่งจากประสบการณ์ในวัยเด็กที่ทางบ้านอยากให้เรียนเปียโน โดยเริ่มประมาณ 4-5 ขวบ ได้ดีดเพียงเปียโนไม้ และต่อมาตอน 8 ขวบ คุณพ่อได้ซื้อเปียโนหนึ่งหลังไว้ที่บ้าน โดยพี่สาวเป็นคนเดียวที่สามารถเล่นเปียโนได้ เพราะมีโอกาสได้เรียนจากซิสเตอร์ในโรงเรียนคริสเตียน ซึ่งเราไม่มีโอกาส เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีครูสอนเปียโนเหมือนสมัยนี้ จนเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็พยายามหาโอกาสเรียนตลอดเวลา จนประสบผลสำเร็จ เพื่อพิสูจน์ให้คุณพ่อเห็นว่า ผู้ใหญ่ก็สามารถเล่นเปียโนได้เช่นกัน เพราะฉะนั้น ผมจึงตัดคำว่า 'ผู้ใหญ่ไม่สามารถเล่นเปียโนได้ออกจากตัวเอง' โดยทุกวันนี้ผมเดินทางสอนเทคนิคเปียโน วัน ทู ไฟว์ (1 to 5) ให้กับผู้ใหญ่ที่มีใจรัก มีความอดทน เพื่อที่จะทำให้เราสามารถเล่นเปียโนได้"
               ผู้สนใจคอร์สเปียโน '1 to 5' หรือมีความประสงค์ ร่วมสมทบทุนเพื่อซื้อเปียโนหรือบริจาคเปียโน สามารถติดต่อได้ที่โทร.1415 ต่อ 2311
 
 
      ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


  View : 3.12K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 0
 เมื่อวาน 13
 สัปดาห์นี้ 62
 สัปดาห์ก่อน 97
 เดือนนี้ 345
 เดือนก่อน 536
 จำนวนผู้เข้าชม 476,781
  Your IP : 18.116.118.198