เผยเด็กไทย 30%พัฒนาการล่าช้า

โดย ศูนย์ข้อมูลวิชาการ จากเดลินิวส์ วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม 2555
กรมสุขภาพจิต เผย เด็กไทย 30%พัฒนาการล่าช้า ชี้ แท็บเล็ตดาบ 2 คม กระตุ้นการเรียนรู้เด็กได้ดี แต่อย่าปล่อยให้ใช้จนติด แนะครู ผู้ปกครองดูแลใกล้ชิดไม่ปล่อยให้ใช้เกิน 1 ชม.
วันนี้(22 พ.ค.) ที่กรมสุขภาพจิต  นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในแต่ละปีประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่ประมาณ 8 แสนคน ในจำนวนนี้  30 % มีปัญหาเรื่องพัฒนาการไม่สมวัย โดย 10 % พบว่าอยู่ในภาวะเป็นโรค อีก 20 % เป็นกลุ่มที่สามารถกระตุ้นให้กลับมามีพัฒนาการที่สมวัยได้ แต่หากไม่ได้รับการแก้ไขที่ถูกต้องอาจส่งผลถึงพัฒนาการของเด็กในวัยเรียนได้ ที่ผ่านมาพบว่า 48.5 %  ระดับสติปัญญา (ไอคิว) ต่ำกว่าระดับปกติ และ 6.5 % มีความบกพร่องทางสติปัญญา ขณะเดียวกันยังพบว่าปัญหาเรื่องพัฒนาการทางด้านอารมณ์ (อีคิว) ลดลงเรื่อยๆ โดยในปี 2551 เด็กที่มีปัญหาดังกล่าวอยู่ที่ 13.3 % และเพิ่มเป็น 14.4 %  ในปี 2554 ดังนั้นการกระตุ้นพัฒนาการของเด็กอย่างแรกคือทำให้เข้าถึงการทดสอบมากขึ้นจากเดิมที่จะทดสอบช่วงที่เด็กฉีดวัคซีนเท่านั้น แต่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยร่วมมือกับผู้ปกครอง และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อย่างเรื่องการเรียนการสอนด้วยแท็บเลตนั้นตนเห็นว่าเป็นเรื่องดี เพราะถือว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการและทักษะของเด็ก แต่สิ่งสำคัญคือผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งพ่อ แม่ ครู ควรใช้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ไม่ปล่อยให้ใช้เทคโนโลยีเพียงลำพัง
ด้าน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร  โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า    1 ใน 3 ของเด็กที่มีปัญหาความบกพร่องทางสติปัญญามีสาเหตุมาจากการได้รับโภชนาการที่ไม่เหมาะสม ไม่เพียงพอ  การเข้าถึงการเรียนรู้ที่ไม่เท่าเทียมกัน และเวลาที่พ่อ แม่ดูเด็ก เพราะบางคนปล่อยลูกไว้ที่สถานเลี้ยงเด็ก หรือปล่อยไว้ให้คนชราเลี้ยง ดังนั้นนโยบายการเรียนด้วยแท็บเล็ตในกลุ่มเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 อาจจะยิ่งส่งผลให้เด็กกลุ่มนี้เรียนไม่ทันเพื่อน เพราะฉะนั้นครูต้องหมั่นสังเกต และช่วยส่งเสริมการใช้แท็บเลตของเด็กกลุ่มดังกล่าว ซึ่งจะช่วยให้เขาเรียนได้ทันเพื่อนและมีทักษะด้านการอ่านเพิ่มขึ้นด้วย
“ตอนนี้ยังไม่เห็นแอพพลิเคชั่นของตัวแทบเลตที่แจกให้กับเด็กๆ แต่เห็นว่ากระทรวงศึกษาธิการได้จัดเตรียมเนื้อหาที่เหมาะสมเอาไว้ให้ น่าจะสามารถเสริมพัฒนาการด้านภาษาของเด็กได้ และในส่วนของแอพพลิเคชั่นคงต้องมีการพัฒนาให้ต่อเนื่องเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้ของเด็กๆ มากที่สุด” พญ.พรรณพิมล กล่าวและว่า การใช้แท็บเลต พ่อ แม่ต้องดูแล โดยเฉพาะเวลาในการใช้งานไม่ควรให้เกิน 30 นาที- 1 ชั่วโมง เพราะต้องให้เด็กๆ ได้ออกไปทำกิจกรรมอื่นๆ เพื่อเสริมทักษะให้รอบด้าน แต่โชคดีที่เด็ก ป.1 ถือว่ายังอยู่ในความดูแลของพ่อ แม่เยอะอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นพ่อ แม่ จะต้องใช้ประโยชน์จากตรงนี้ให้มาก
พญ.สุวรรณี เรืองเดช โฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เชื่อว่าแท็บเลตจะช่วยพัฒนาการด้านภาษาของเด็กกลุ่มนี้ได้ เพราะทำให้การเรียนรู้น่าสนใจ สนุก มีการจดจำ การเรียนรู้สูงขึ้น แต่จะต้องดูแลให้เด็กใช้แท็บเลตอย่างเหมาะสม ไม่ใช่ใช้จนติดมิฉะนั้นจะกลายเป็นการไปยับยั้งพัฒนาการด้านอื่นๆ เช่นพัฒนาการทางอารมณ์ ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะทางด้านจิตใจการติดเทคโนโลยีที่รวดเร็วอาจจะส่งผลให้เด็กไม่รู้จักการรอคอย ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้าทีมโฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสมจะต้องปฏิบัติตามกฎ 3 ต้อง 3 ไม่ โดย 3 ต้องประกอบด้วย 1. ต้องจำกัดเวลาเล่นของเด็กไม่ให้เกิน 30 นาที-1 ชั่วโมง 2. ผู้ปกต้องต้องใช้เทคโนโลยีร่วมกับเด็กเพื่อคอยสอนคอยแนะนำ และ 3. ต้องเลือกแอพพลิเคชั่นที่ดีที่เหมาะสมให้กับเด็ก ส่วน 3 ไม่ประกอบด้วย 1. ไม่เล่นในขณะรับประทานอาหารเพราะเวลาดังกล่าวควรเป็นช่วงเวลาปฏิสัมพันธ์กันในครอบครัว 2. ไม่ใช้เด็กใช้เทคโนโลยีในสถานที่ที่ไม่สามารถควบคุมการใช้ได้ เช่น ห้องนอน และ 3. ไม่เป็นตัวอย่างที่ผิดให้กับเด็ก เช่น ใช้เป็นเวลานาน เข้าเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม.

นวพรรษ บุญชาญ


  View : 3.09K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 733
 เมื่อวาน 2,262
 สัปดาห์นี้ 6,042
 สัปดาห์ก่อน 7,125
 เดือนนี้ 25,958
 เดือนก่อน 33,046
 จำนวนผู้เข้าชม 907,636
  Your IP : 18.188.233.69