เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้กลายเป็นเด็กขี้อิจฉา - เดลินิวส์

รวบรวมข้อมูลโดยฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
        คุณพ่อคุณแม่เคยสงสัยไหมคะว่า ถ้าเรามีลูก 2 คนหรือมากกว่านี้ เราควรทุ่มเทเวลาให้ลูกคนไหนกันแน่? ยิ่งโดยเฉพาะบ้านที่มีลูกคนโตและน้องคนเล็กอายุห่างกันมาก ๆ ด้วยแล้ว เรื่องนี้ดูจะเป็นปัญหาสำคัญทีเดียวค่ะ                     
        คุณพ่อคุณแม่มักจะคิดว่า ควรจะทุ่มเทเวลาดูแลน้องหรือให้พี่ที่อายุมากกว่าเป็นคนดูแลน้องน่าจะเป็นคำตอบที่เหมาะสม แต่แท้จริงแล้ว คุณพ่อคุณแม่ต้องยอมรับว่า เด็กแต่ละช่วงอายุจะมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ แตกต่างกันไป เช่น เด็กอายุ 3 ขวบ จะเริ่มรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของได้อย่างชัดเจน ส่วนเด็กอายุ 4 ขวบจะเริ่มแสดงอารมณ์อิจฉาโดยไม่รู้ตัว เด็กอายุ 5 ขวบ เริ่มพัฒนาความคิดเกี่ยวกับพวกฉันพวกเธอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อความคิด อารมณ์ ความรู้สึก ความเข้าใจ แล้วจึงแสดงออกมาทางพฤติกรรมค่ะ ดังนั้น การที่จะสรุปไปว่า คำว่า “พี่” คือต้องดูแลน้อง เป็นผู้เสียสละให้น้องตลอดเวลา หรือว่าเป็นคุณพ่อคุณแม่คนที่ 2 ก็ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเท่าไหร่นัก เพราะพี่อาจจะมีความสนใจในเรื่องอื่น ๆ ตามช่วงอายุวัยของเขา เพียงแต่พี่อาจจะช่วยดูแลน้องได้เป็นครั้งคราวตามความเหมาะสมของช่วงเวลาเท่านั้นค่ะ
          สิ่งที่เป็นหัวใจของการดูแลลูกที่มีตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปคือ เรื่องของการสร้างความรักและความเอื้ออาทรในครอบครัว สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เอง รวมถึงไม่สามารถเกิดขึ้นเพราะคำสั่งของคุณพ่อคุณแม่ แต่จะเกิดจากพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่เองที่เป็นแบบอย่างที่ดีที่สามารถสอนทั้งพี่และน้องได้ว่า คำว่า “รัก” สำหรับพี่น้องคืออะไร และควรเป็นอย่างไร วิธีการหนึ่งที่สำคัญคือการให้พี่น้องได้ทำกิจกรรมด้วยกัน เพราะนอกจากจะช่วยทำให้ทั้งพี่และน้องรู้สึกถึงการถ้อยทีถ้อยอาศัยแล้ว ยังช่วยให้พี่รู้สึกว่าตัวเองเป็นบุคคลสำคัญอีกด้วยค่ะ
         เรื่องการรู้สึกว่าอยากให้ตัวเองเป็นบุคคลสำคัญนั้น เชื่อได้ว่าเกิดขึ้นได้ในทุกครอบครัว สำหรับครอบครัวลูกคนเดียวอาจจะไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไร ด้วยเพราะทุกคนเห็นว่าลูกเป็นศูนย์รวมความรักอยู่แล้ว แต่สำหรับบ้านที่มีลูกหลายคน คำถามที่คุณพ่อคุณแม่มักได้ยินจากลูกคนใดคนหนึ่งเสมอคือ “พ่อหรือแม่รักใครมากกว่ากัน?” ซึ่งถึงแม้ว่า คุณพ่อคุณแม่จะแสดงความรักที่เท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตามในสายตาของลูกแล้วมันก็ไม่เท่าเทียมกันอยู่ดี
         ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า แล้วเมื่อลูกคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า “แม่บอกมาเลยว่ารักใครมากกว่ากัน?” การตอบแค่ว่าเท่ากันนั้น ก็จะเหมือนยิ่งตอกย้ำความรู้สึกของลูกคนที่ถามว่า แม่เขารักลูกอีกคนหนึ่งมากกว่า นักประสาทจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์-เออบาน่าแชมเปญได้กล่าวไว้ว่า คำตอบของคำถามเหล่านี้คือ การแนะนำให้เปรียบเทียบกับแสงอาทิตย์ เช่น บอกว่า “ลูกลองคิดว่า ถ้าลูกกับพี่ออกไปยืนกลางแดด ลูกคิดว่าใครจะได้รับแสงแดดมากกว่ากัน การยืนกลางแดดไม่ได้แปลว่า ลูกได้รับแสงแดดน้อยกว่าพี่ หรือพี่ได้รับแสงแดดมากกว่าลูกเลย ความรักของพ่อกับแม่ก็เหมือนกัน พ่อกับแม่มีความรักให้ลูกกับพี่เท่า ๆ กันนะครับ” หรือว่า “แม่มีลูกคนโตอยู่คนเดียว คนนั้นก็คือคนที่พิเศษ คนที่ยืนอยู่ตรงนี้แหละครับ”
            อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องของการเปรียบเทียบ ซึ่งจะเห็นได้ว่า เกิดขึ้นแทบจะทุกส่วนในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นเปรียบเทียบน้องกับพี่ เปรียบเทียบลูกกับลูกเพื่อน หรือแม้แต่ยกตัวอย่างในสิ่งที่ไม่มีวันเกิดขึ้น เช่น “ถ้าแม่เป็นลูกนะ แม่ทำข้อสอบได้เต็มร้อยอยู่แล้ว” เพราะคุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ลืมว่า ลูกแต่ละคนเกิดมาพร้อมกับความพิเศษในตัวเองและไม่เหมือนกัน เราไม่สามารถกะเกณฑ์ว่าพี่คนโตเก่งคำนวณแล้วน้องคนเล็กจะต้องเก่งเช่นเดียวกัน หรือแม้แต่พี่คนโตเรียบร้อย ก็ไม่ได้หมายความว่า น้องคนเล็กจะต้องเรียบร้อยด้วย
           ดังนั้นการเปรียบเทียบจึงเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ในการทำร้ายจิตใจเด็กคนหนึ่งเป็นอย่างมาก สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรจะทำไม่ใช่การเปรียบเทียบ แต่เป็นการค้นหาศักยภาพในตัวลูกแต่ละคน และเปิดโอกาสให้ศักยภาพเหล่านั้นได้แสดงออกต่างหาก เรื่องนี้จิตแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยจอร์เจียได้กล่าวไว้ว่า หน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ไม่ใช่การผลักดันให้ลูกเป็นอย่างใจตัว แต่ต้องพยายามช่วยลูกให้ค้นพบความสามารถพิเศษด้านต่าง ๆ เพราะมันยุติธรรมแล้วหรือที่จะกดความสามารถด้านอื่นๆ ของลูกเรา เพียงเพราะความต้องการของคุณพ่อคุณแม่ที่อยากจะให้ลูกเหมือนคนอื่นแค่นั้น
            เรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง และนักพฤติกรรมศาสตร์มักให้ความสำคัญเพราะเกี่ยวเนื่องถึงอารมณ์อิจฉา ปมเด่น ปมด้อย รวมถึงความเชื่อมั่นในตัวเองโดยตรง นั่นก็คือ การเอาพฤติกรรมของพี่หรือน้องมาเล่าเป็นเรื่องตลกขบขันในครอบครัว อย่าลืมว่า ในการทำอะไรเป็นกลุ่มนั้นไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อน หรือหุ้นส่วนในธุรกิจ จะประสบผลสำเร็จด้วยดีได้ ก็เพราะทุกคนมีโอกาสที่จะเติบโต มีโอกาสในการแสดงออก รวมถึงการไม่เป็นเหยื่อของคนในกลุ่มโดยเฉพาะคำพูดที่ทำให้รู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อยหรือโดนดูถูก การที่ผู้ใหญ่โดยเฉพาะพ่อแม่ เอาเรื่องที่ตัวเองคิดว่าตลกของลูก ๆ ไปพูดให้คนอื่นฟัง เท่ากับเปิดโอกาสให้ลูกตัวเองถูกตำหนิจากลักษณะท่าทางและคำพูดที่โดนล้อเลียนและขบขัน
            ศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียได้กล่าวไว้ว่า คำพูดไม่กี่คำของคุณพ่อคุณแม่โดยเฉพาะคำพูดประเภทที่ว่า “ลูกทำตัวแย่มาก” “แม่ไม่รักลูกแล้วนะ” “ลูกบ้านโน้นเก่งจัง เก่งกว่าลูกอีก” สามารถสร้างปมด้อยในใจของลูกได้อย่างไม่มีวันลบเลือน ยิ่งโดยเฉพาะในครอบครัวที่มีลูกหลายคน การที่ลูกคนใดคนหนึ่งทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม แล้วลูกคนอื่น ๆ กลับไปว่าทับถมหรือล้อเลียน จะยิ่งทำให้ลูกคนที่ทำพฤติกรรมไม่เหมาะสมยิ่งเกิดอาการต่อต้าน บั่นทอนความเชื่อมั่นในตัวเอง รวมไปถึง การรู้สึกเก็บกดและแปลกแยกได้อีกด้วย
            ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรที่จะถือโอกาสที่ลูกคนหนึ่งทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมนั้น สอนลูกคนอื่น ๆ ถึงเรื่องของความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจ และการให้อภัยผู้อื่น เช่น เมื่อเห็นว่าน้องกำลังขว้างปาข้าวของ และเห็นว่าพี่กำลังจะเดินไปต่อว่า คุณแม่อาจบอกว่า “น้องหนูกำลังโกรธ ซึ่งแม่ก็เข้าใจว่าน้องโกรธ น้องโกรธแล้วน้องปาของอย่างนี้ไม่น่ารักใช่ไหมคะ เดี๋ยวแม่จะไปคุยกับน้องว่าน้องโกรธเรื่องอะไร หนูอย่าโกรธน้องนะคะลูก” หรือในกรณีที่ลูกคนโตได้รับข่าวร้ายจากที่โรงเรียน คุณแม่ก็ควรถือโอกาสนี้คุยกับน้องว่า “พี่เค้ากำลังเศร้าเพราะว่าไปคัดตัวนักกีฬาไม่ผ่าน ถ้าหนูไปล้อพี่เรื่องนี้ เค้าก็ต้องยิ่งเสียใจมากขึ้นไปอีก แล้วเราจะช่วยให้พี่เค้ารู้สึกดีขึ้นได้ยังไงคะ” ซึ่งการร่วมมือกันของคนในครอบครัวจะช่วยให้ลูกคนที่กำลังประสบปัญหาก้าวข้ามผ่านความรู้สึกดีไปได้อย่างเข้าใจ
          เนื่องในวันเด็กปีนี้ ทางทีมงานหมอรามาฯ ไขปัญหาสุขภาพก็ขอให้น้อง ๆ เป็นเด็กที่มีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดี เพื่อที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่ดีมีคุณภาพในอนาคต ดังคำขวัญวันเด็กปีนี้ที่ว่า กตัญญู รู้หน้าที่ เป็นเด็กดี มีวินัย สร้างไทยให้มั่นคง

อ.ดร.ปรียาสิริ มานะสันต์
โครงการพัฒนาศักยภาพประชากรไทย
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล


  View : 4.14K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 230
 เมื่อวาน 1,702
 สัปดาห์นี้ 3,290
 สัปดาห์ก่อน 7,125
 เดือนนี้ 23,206
 เดือนก่อน 33,046
 จำนวนผู้เข้าชม 904,884
  Your IP : 182.232.106.112