กรมสุขภาพจิต พัฒนา “แบบวัดไอคิวเด็กไทย”เวอร์ชั่น 4.0 ครู- จนท.สาธารณสุขทั่วประเทศก็ใช้ได้

​         

กรมสุขภาพจิต วิจัยพัฒนาแบบวัดไอคิวเด็กไทยอายุ 2-15 ปี  เวอร์ชั่นใหม่ให้ทันยุคไทยแลนด์ 4.0 บุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งครูและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วประเทศสามารถใช้ได้  หากพบเด็กมีไอคิวต่ำจะได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว คาดประกาศใช้ปลายปี 2563 พร้อมแนะเทคนิคพ่อแม่ทั้งมือเก่ามือใหม่ในการพัฒนาเด็ก 3 ขวบปีแรกให้มีไอคิวดีแบบง่ายๆ และใกล้ตัว

​          นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ว่า กรมสุขภาพจิตมีเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาเด็กไทยมีระดับเชาวน์ปัญญาหรือไอคิว (Intelligent Quotient : IQ) ไม่ต่ำกว่า100 จุดเทียบเท่าเด็กสากล เพื่อเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์และเตรียมความพร้อมการแข่งขันระดับประเทศ ซึ่งเชาวน์ปัญญานั้นเป็นความสามารถของบุคคลในการเรียนรู้ เข้าใจ จดจำ วิเคราะห์ สังเคราะห์และคิดได้อย่างมีเหตุผล  จากการสำรวจระดับไอคิวครั้งล่าสุดในปี 2559 ในเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 23,641 คนทั่วประเทศ พบภาพรวมทั้งประเทศมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 98.23 จุด เทียบกับปี 2554 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 94.58 จุด โดยในภาพรวมของประเทศยังมีเด็กประถมศึกษา  ปีที่ 1 ที่มีไอคิวต่ำกว่าค่าปกติคือต่ำกว่า 90 จุด อยู่ถึงร้อยละ 37.61 หรือคาดว่ามีประมาณ 3 แสนกว่าคนทั่วประเทศ ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกที่กำหนดว่าไอคิวกลุ่มนี้ไม่ควรมีเกินร้อยละ 25  ซึ่งในจำนวนนี้มีระดับไอคิวน้อยกว่า 70 จุดที่จัดอยู่ในเกณฑ์เข้าข่ายสติปัญญาบกพร่องที่ต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือทันทีอยู่ถึงร้อยละ 5.8

          อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อไปว่า ระดับไอคิวของเด็กมีต้นทุนร้อยละ 70 มาจากกรรมพันธุ์ และร้อยละ 30 พัฒนาขึ้นได้จากการเลี้ยงดู ในปี 2561 นี้กรมสุขภาพจิตเร่งดำเนินการเรื่องไอคิวเด็กไทย  2 เรื่องใหญ่ เรื่องแรกคือ การวัดระดับไอคิวเด็กไทยในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จะทำการประเมินทั่วประเทศในเดือนมิถุนายน 2561 คาดจะรู้ผลในเดือนสิงหาคม 2561  เรื่องที่สอง คือการพัฒนาแบบทดสอบไอคิวของเด็กอายุ 2-15 ปีให้ทันสมัยสอดรับกับยุคไทยแลนด์ 4.0 และใช้งานง่ายสำหรับบุคลากรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับเด็ก โดยเฉพาะครูและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข สามารถใช้ได้เพื่อใช้ติดตามและแก้ปัญหาเด็กไอคิวต่ำได้อย่างรวดเร็ว

          ทางด้านแพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กล่าวว่าในการพัฒนาแบบประเมินไอคิวเด็กวัย 2-15 ปีเวอร์ชั่นใหม่นี้ ได้วิจัยและพัฒนาเพิ่มเติมจากเครื่องมือชุดเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2546เพื่อใช้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมในเวลาที่จำกัด มีทั้งหมด 5 ด้าน ประกอบด้วย 1.ความสามารถในการคิดวิเคราะห์และเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ  2.ความสามารถในการรับรู้และเข้าใจเชิงมิติสัมพันธ์ จากการมองเห็นและแสดงออกโดยการใช้กล้ามเนื้อ การเคลื่อนไหว 3.ความสามารถในการประมวลผลความจำในการเห็นและการได้ยิน 4.ความสามารถในการรู้จัก เข้าใจความหมายและเหตุผลทางด้านภาษา การเรียนรู้ การสังเกตจากสิ่งแวดล้อม และการแก้ปัญหาโดยใช้ประสบการณ์  และ 5.ความสามารถในการแยกแยะและการจัดประเภทของสิ่งต่างๆ ทั้งนี้จะทำการหาค่าเกณฑ์ปกติ(National norms) ของเด็กไทยอายุ 2-15 ปีทุกเขตสุขภาพทั่วประเทศและกทม. รวม 14 ช่วงอายุ ใช้กลุ่มตัวอย่างประมาณ5,460 คน โดยใช้เวลาศึกษา 3 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2561-2563  คาดว่าจะสามารถนำมาใช้กับเด็กไทยทั่วประเทศในปลายปี พ.ศ.2563   

          อย่างไรก็ดี พ่อแม่ทั้งมือเก่าและมือใหม่สามารถพัฒนาไอคิวของเด็กให้ดีขึ้นได้ในช่วง 3 ขวบแรกด้วยเครื่องมือที่ลงทุนต่ำ โดยการเล่นกับลูกตามวัย และสามารถประยุกต์ใช้สิ่งรอบๆตัวเด็กในวิถีชีวิตมาช่วยส่งเสริมไอคิวของเด็กได้ เช่น 1.ฝึกให้เด็กถ่ายทอดจินตนาการ ด้วยหนังสือภาพหรือหนังสือนิทาน 2. ฝึกให้เด็กเป็นคนช่างสังเกต ด้วยการเดินเล่น  3.ฝึกให้เด็กคิดเชื่อมโยงด้วยการทำอาหาร และ4.ฝึกการประสานงานของประสาทตากับมือ ด้วยการหยิบจับสิ่งของ อันเป็นต้นทุนของการคิดมีเหตุผล  แพทย์หญิงมธุรดากล่าว

 

       ******************************* 3  พฤษภาคม 2561

ข่าวเผยแพร่

1."กรมสุขภาพจิต พัฒนาแบบวัดไอคิวเด็กไทย เวอร์ชั่น 4.0" (FM 100.5) 4 พฤษภาคม 2561 http://www.news1005.fm/view/5aea92e1e3f8e40ad4c4662b

2."กรมสุขภาพจิต พัฒนา 'แบบวัดไอคิวเด็กไทย' เวอร์ชั่น 4.0" (กรุงเทพธุรกิจ) 3 พฤษภาคม 2561 http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/800682

  View : 4.08K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 377
 เมื่อวาน 1,134
 สัปดาห์นี้ 2,931
 สัปดาห์ก่อน 8,871
 เดือนนี้ 13,113
 เดือนก่อน 57,053
 จำนวนผู้เข้าชม 862,281
  Your IP : 18.191.154.66