กรมสุขภาพจิต เน้นย้ำการนำเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าเข้าสู่ระบบบริการ เร่งส่งเสริมพัฒนาการ พร้อมเข้าสู่โอกาสทางการศึกษา ส่งต่อการจ้างงาน

กรมสุขภาพจิต เน้นย้ำการนำเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าเข้าสู่ระบบบริการ เร่งส่งเสริมพัฒนาการ พร้อมเข้าสู่โอกาสทางการศึกษา ส่งต่อการจ้างงาน
 
วันนี้ (21 มีนาคม 2567) สถาบันราชานุกูลเดินหน้ารณรงค์ส่งเสริม สร้างความเท่าเทียมทางสุขภาพในกลุ่มผู้ที่มีความบกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา โดยเชิญชวนครอบครัวเด็กกลุ่มอาการดาวน์ เข้าร่วมกิจกรรม “Down’s Come Back Home” เนื่องในวันดาวน์ซินโดรมโลก 2024 เพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้ของสังคม ให้เกิดความรู้ความเข้าใจต่อเด็กกลุ่มอาการดาวน์ ช่วยเปิดโอกาสทางสังคมให้เด็กได้อยู่ร่วมในสังคมอย่างเท่าเทียมและมีความสุข โดยจัดกิจกรรมตรวจสุขภาพครั้งใหญ่เฉพาะกลุ่มอาการดาวน์ เปิดพื้นที่ให้แสดงความสามารถและศักยภาพให้เป็นที่ประจักษ์ เพื่อสร้างความมั่นใจและความภาคภูมิใจ อีกทั้งยังช่วยสร้างแรงบันดาลใจแก่พ่อแม่และผู้เลี้ยงดู ภายในงานมีกิจกรรม Work shop สาธิตการส่งเสริมพัฒนาการในรูปแบบต่าง ๆ ต่อด้วยการสร้างความบันเทิงด้วยการจัด Party for Down’s  โดย “Drummonte” วงดนตรีจากคนพิเศษ สร้างบรรยากาศผ่อนคลาย ความประทับใจ แก่ผู้ร่วมงานและหน่วยงานภาคีเครือข่าย
 
นายแพทย์จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตให้ความสำคัญกับกลุ่มเด็กที่มีความบกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา จึงได้มอบนโยบายเพิ่มการเข้าถึงบริการของเด็กกลุ่มนี้ เพื่อให้ได้รับการส่งเสริมพัฒนาการ ดูแลสุขภาพกายและจิตอย่างเหมาะสม หากเด็กเหล่านี้ได้เข้าสู่ระบบบริการสาธารณสุข และได้รับการกระตุ้นพัฒนาการและดูแลสุขภาพตั้งแต่แรกเริ่ม จะพบว่าหลายรายสามารถประกอบอาชีพ ตลอดจนสามารถดำรงชีวิตอย่างอิสระได้ด้วยตนเอง สถาบันราชานุกูลเป็นองค์กรหลักของกรมสุขภาพจิตในการให้การดูแลเด็กที่มีความบกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญารวมถึงกลุ่มอาการดาวน์ ตั้งแต่อายุ 0-18 ปี ทั้งในรูปแบบผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ซึ่งเป็นระบบการดูแลเฉพาะทางตั้งแต่การกระตุ้นพัฒนาการ ฝึกการช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวันตามวัย ฟื้นฟูด้านการศึกษา ตลอดจนฝึกความพร้อมในการประกอบอาชีพในโครงการทดลองจ้างงาน เพื่อให้สังคมได้เห็นความสามารถในการทำงาน และยังเปิดโอกาสให้บุคคลเหล่านี้ โดยเฉพาะกลุ่มอาการดาวน์ได้แสดงความสามารถพิเศษในเวทีต่าง ๆ เพื่อเปลี่ยนภาพในอดีตไปเป็นมุมมองเชิงบวกต่อการรับรู้ถึงความสามารถที่เท่าเทียมบุคคลอื่นๆ ทั่วไปในสังคม
 
นายแพทย์จุมภฏ กล่าวต่ออีกว่า กลุ่มอาการดาวน์ (Down syndrome) เกิดจากการมีโครโมโซมคู่ที่ 21 เกินมา 1 โครโมโซม เป็นสาเหตุทางพันธุกรรมของภาวะบกพร่องทางสติปัญญาที่พบบ่อยที่สุด ในประเทศไทยมีอุบัติการณ์ประมาณ 1 ต่อ 826 ของเด็กเกิดมีชีพ ซึ่งอัตราการเกิดใหม่ของเด็กกลุ่มอาการดาวน์ลดลง ถ้าเทียบจากในระยะ 10 ปี ที่ผ่านมา กลุ่มอาการดาวน์มีลักษณะใบหน้าและร่างกายที่จำเพาะ ส่วนใหญ่มีภาวะบกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา และอาจพบความผิดปกติของระบบอื่น ๆ ของร่างกายร่วมด้วย เช่น ความพิการแต่กำเนิดของหัวใจ ระบบโลหิต ระบบทางเดินหายใจ การได้ยิน การมองเห็น และระบบต่อมไร้ท่อ เป็นต้น การดูแลเด็กกลุ่มอาการดาวน์จึงต้องมีการวางแผนระยะยาว โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของทั้งครอบครัว สถานพยาบาล และสังคม ทั้งในด้านการรักษาพยาบาล การเลี้ยงดู ตลอดจนการกระตุ้นพัฒนาการในด้านต่างๆ หากเด็กกลุ่มอาการดาวน์ได้รับการส่งเสริมพัฒนาการเร็ว เริ่มตั้งแต่อายุน้อย จะส่งผลให้มีพัฒนาการดีขึ้น และมักจะสามารถเรียนร่วมกับเด็กปกติ ใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างอิสระ เด็กกลุ่มอาการดาวน์จึงควรได้รับการดูแลส่งเสริมสุขภาพ กระตุ้นพัฒนาการและตรวจติดตามเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง เพื่อเฝ้าระวังภาวะผิดปกติที่อาจพบและให้การรักษาตั้งแต่แรกอันจะป้องกันความพิการซ้ำซ้อนได้ 
 
ด้านแพทย์หญิงนพวรรณ ศรีวงค์พานิช ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กล่าวว่า การจัดงานรณรงค์เนื่องในวันดาวน์ซินโดรมโลกในปีนี้ มีวัตถุประสงค์หลัก คือ การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับดาวน์ซินโดรมหรือกลุ่มอาการดาวน์ ทั้งในระดับผู้ปกครอง บุคลากรทางการแพทย์ ครู รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้ทุกภาคส่วนได้มองเห็นถึงศักยภาพของกลุ่มอาการดาวน์ที่แม้จะมีข้อจำกัดด้านพัฒนาการและสติปัญญา รวมถึงสุขภาพกาย แต่หากได้เข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขตามที่ภาครัฐได้จัดสรรให้  และได้รับการศึกษาในระบบโรงเรียนด้วยการเรียนร่วม เพื่อฝึกทักษะทางสังคมตามวัย พร้อมเปิดโอกาสการจ้างงาน จะช่วยให้บุคคลเหล่านี้สามารถพึ่งพาตนเอง ไม่เป็นภาระแก่ครอบครัวและสังคม 
 
โดยสถาบันราชานุกูลได้ดำเนินการพัฒนาระบบการเข้าถึงบริการกระตุ้นพัฒนาการของเด็กที่ทีพัฒนาการล่าช้า การเข้าถึงบริการผู้ป่วยภาวะบกพร่องทางสติปัญญา และเตรียมความพร้อมแก่ผู้บกพร่องทางสติปัญญาตั้งแต่อายุ 15 ปี ขึ้นไป ให้สามารถเข้าสู่สังคมแห่งการทำงานได้ จากรายงานสถานการณ์คนพิการ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ในปี 2566 มีผู้บกพร่องทางสติปัญญาอายุ 15-60 ปี จำนวน 186,847 คน ได้รับการจ้างงานในสถานประกอบการ จำนวน 4,539 คน คิดเป็นเพียงร้อยละ 2.4 หากหลายภาคส่วนร่วมมือกันก็จะช่วยให้ผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญาได้รับการพัฒนาทักษะที่เหมาะสมตามศักยภาพอย่างต่อเนื่อง จนสามารถทำงานได้เพิ่มมากขึ้นและใช้ชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
 
 

ข่าวแจกกรมสุขภาพจิตวันดาวน์2024.pdf

  View : 698

Tags: กรมสุขภาพจิต เน้นย้ำการนำเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าเข้าสู่ระบบบริการ เร่งส่งเสริมพัฒนาการ พร้อมเข้าสู่โอกาสทางการศึกษา ส่งต่อการจ้างงาน Down syndrome วันดาวน์ซินโดรมโลก วันดาวน์ซินโดรม ประจำปี 2567 DOWN'S COME BACK HOME วันดาวน์ซินโดรมสถาบันราชานุกุล สถาบันราชานุกูล


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 1,051
 เมื่อวาน 1,376
 สัปดาห์นี้ 7,074
 สัปดาห์ก่อน 6,556
 เดือนนี้ 23,715
 เดือนก่อน 57,053
 จำนวนผู้เข้าชม 872,883
  Your IP : 51.222.253.13