เผยแพร่โดย ฝ่ายสื่อสารองค์กร กลุ่มพัฒนายุทธศาสตร์
คนที่เป็นพ่อแม่หลาย ๆ คน คงตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่าการมีลูกเป็นความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ เริ่มตั้งแต่การดูแลในช่วงตั้งครรภ์ ช่วงการคลอด การเลี้ยงลูกในวัยทารกจนกระทั่งเข้าสู่วัยเรียน ซึ่งเด็กในแต่ละวัยก็จะมีปัญหาพฤติกรรมที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเรียน ดื้อ ซน โดยพ่อแม่หลายคนมักเข้าใจว่าเด็กที่ซุกซนมากเป็นเด็กฉลาด แต่นั่นอาจเป็นพฤติกรรมที่ลูกท่านแสดงออกจากการเป็นโรคสมาธิสั้น
โรคสมาธิสั้น หรือ ADHD (Attention Deficit/Hyperactive Disorder) เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก (ก่อนอายุ 7 ขวบ) จากความผิดปกติของสารเคมีบางอย่างในสมอง ซึ่งมีผลกระทบต่อทั้งอารมณ์ ความคิดและพฤติกรรมของเด็ก ทำให้เกิดปัญหาด้านการเรียน รวมทั้งพัฒนาการทางอารมณ์และสังคมตามมา โดยโรคนี้ประกอบด้วย 3 กลุ่มอาการ ได้แก่ อาการขาดสมาธิ (Attention Deficit) อาการซน (Hyperactivity) และอาการหุนหันพลันแล่น (Impulsivity)
เด็กบางคนอาจจะมีอาการซน อยู่ไม่นิ่ง และอาการวู่วาม หุนหันพลันแล่นเป็นหลัก ซึ่งพบได้บ่อยในเด็กผู้ชาย ในขณะที่เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นบางคนอาจจะไม่ซน แต่มีอาการของการขาดสมาธิเป็นหลัก ซึ่งพบได้ทั้งในเด็กผู้หญิงและผู้ชาย
โรคสมาธิสั้นจะพิจารณาจากประวัติและอาการของเด็กเท่านั้น ไม่มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือการทดสอบใด ๆ มาใช้เป็นหลักในการวินิจฉัย (นอกจากใช้เพื่อการวินิจฉัยแยกโรคอื่น ๆ) ดังนั้นประวัติโดยละเอียดจากพ่อแม่และข้อมูลจากทางโรงเรียน รวมทั้งผลการเรียนของเด็กจึงเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการวินิจฉัยอย่างมาก อาการที่บ่งชี้ว่าเด็กอาจมีโรคสมาธิสั้น ได้แก่
1.อาการขาดสมาธิ
เด็กจะมีลักษณะวอกแวกง่าย ขาดสมาธิและความตั้งใจในการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่ต้องใช้ความคิดหรือความตั้งใจมาก เด็กมักจะแสดงอาการคล้ายเหม่อลอยอยู่บ่อย ๆ ฝันกลางวัน ทำงานไม่เสร็จ ผลการทำงานมักจะไม่เรียบร้อย ขาดความรอบคอบ ตก ๆ หล่น ๆ และดูเหมือนสะเพร่า นอกจากนี้ยังมีลักษณะขี้ลืม ทำของใช้ส่วนตัวหายเป็นประจำ มีลักษณะเหมือนไม่ฟังเวลาเราพูดด้วย เวลาสั่งงานก็มักจะลืมทำหรือทำครึ่ง ๆ กลาง ๆ ซึ่งอาการขาดสมาธินี้มักจะมีต่อเนื่องและติดตัวจนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่
2.อาการซนและหุนหันพลันแล่น
เด็กจะมีลักษณะซน อยู่ไม่นิ่ง ยุกยิกตลอดเวลา นั่งนิ่ง ๆ ไม่ค่อยได้ ต้องลุกเดินหรือขยับตัวไปมา ชอบวิ่งหรือปีนป่าย เล่นเสียงดังและผาดโผน หรือทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บและอันตราย ทำให้มักประสบอุบัติเหตุบ่อย ๆ เด็กมักจะพูดมาก หรือ พูดไม่หยุด ชอบแกล้งหรือแหย่เด็กคนอื่น นอกจากนี้ยังพบลักษณะวู่วามใจร้อน อารมณ์หุนหันพลันแล่น ทำอะไรไม่คิดถึงผลที่จะเกิดตามมา ทำของเสียหายบ่อย ๆ รอคอยอะไรไม่ได้ มักชอบพูดขัดจังหวะหรือพูดแทรกเวลาผู้อื่นคุยกัน หรือแย่งเพื่อนเล่นของเล่น
จากการวิจัยในปัจจุบันพบว่า เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นเกิดจากการพร่องของสารสื่อประสาทในสมองบางตัว ได้แก่ โดพามีน (Dopamine) และนอร์อะดรีนาลิน (Noradrenaline) โดยมีสาเหตุจากพันธุกรรมกว่าร้อยละ 40 และปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม หรือการเลี้ยงดูเป็นเพียงปัจจัยเสริมที่ทำให้อาการผิดปกติดีขึ้นหรือแย่ลงเท่านั้น ดังนั้นวิธีการรักษาโรคนี้จึงเน้นไปที่การผสมผสานระหว่างการรักษาด้วยยา การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการช่วยเหลือทางด้านจิตใจสำหรับเด็กและครอบครัว รวมถึงการช่วยเหลือทางด้านการเรียนของเด็ก
ยาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษาโรคสมาธิสั้นคือ ยาในกลุ่มกระตุ้นระบบประสาทหรือ Psychostimulants เช่น Methylphenidate, Dextroamphetamine หรือ Pemoline ซึ่งพ่อแม่และครูหลายคนเข้าใจผิดคิดว่ายาไปบีบหรือกดสมองของเด็ก ทำให้วิตกกังวล ลังเลหรือไม่สบายใจที่จะให้เด็กใช้ยารักษา แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยาจะออกฤทธิ์โดยการไปกระตุ้นให้สมองหลั่งสารโดพามีนและนอร์อะดรีนาลินที่พร่องอยู่ให้ออกมามากขึ้นจนถึงระดับปกติ เป็นผลให้เด็กสามารถควบคุมตนเองได้ดีขึ้น มีสมาธิยาวนานขึ้น และเรียนหนังสือได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเนื่องจากมีความเป็นไปได้น้อยมากที่เด็กสมาธิสั้นจะหายจากโรคก่อนอายุ 12 ขวบ แพทย์จึงแนะนำให้รับประทานยาต่อเนื่องจนพ้นวัยประถมก่อน แล้วจึงค่อยพิจารณาลดหรือหยุดยาต่อไป
ผู้ที่เป็นพ่อแม่จำเป็นต้องเข้าใจและปรับให้มีทัศนคติด้านบวกต่อเด็กมากขึ้น กล่าวคือพฤติกรรมที่ก่อปัญหาของเด็กไม่ได้เกิดจากความตั้งใจที่จะก่อกวนให้เกิดปัญหา แต่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของสารเคมีในสมองทำให้เด็กไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ นอกจากนี้พ่อแม่ยังจำเป็นต้องเรียนรู้เทคนิคที่ถูกต้อง เพื่อช่วยในการจัดการกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมบางอย่างของเด็ก อาทิ
1. จัดทำตารางเวลาให้ชัดเจนว่าเด็กต้องทำกิจกรรมอะไรในเวลาใดบ้าง ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งเข้านอน
2. จัดหาสถานที่ที่เด็กสามารถใช้ทำงาน ทำการบ้าน อ่านหนังสือโดยไม่มีใครรบกวน และไม่มีสิ่งที่ทำเด็กเสียสมาธิอยู่ใกล้ ๆ เช่น ทีวี หรือหน้าต่างที่สามารถเห็นเพื่อนบ้าน
3. ถ้าเด็กวอกแวกง่ายมาก หรือหมดสมาธิง่าย อาจจำเป็นที่จะต้องมีผู้ใหญ่นั่งประกบอยู่ด้วยระหว่างทำงาน
4. พยายามควบคุมอารมณ์ อย่าตวาด ตำหนิเด็ก หรือลงโทษทางกายที่รุนแรง และควรมีการตั้งกฎเกณฑ์ล่วงหน้าว่า เมื่อเด็กทำผิดจะมีการลงโทษอย่างไรบ้าง
5. เป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็ก เช่น ความมีระเบียบ ความสุภาพ การรู้จักรอคอย รวมไปถึงหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงต่าง ๆ เป็นต้น
6. หาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโรค ADHD
การตีหรือลงโทษทางร่างกายมักเป็นวิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ได้ผล และมีส่วนทำให้เด็กมีอารมณ์โกรธหรือพฤติกรรมดื้อต่อต้าน และก้าวร้าวมากขึ้น วิธีการที่ได้ผลดีกว่าคือ การให้คำชมหรือรางวัลเมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสม รวมถึงการควบคุมพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมโดยการงดกิจกรรมที่เด็กชอบหรืออาจจะตัดสิทธิต่าง ๆ
เมื่อผ่านช่วงวัยรุ่น ร้อยละ 30-50 ของเด็กที่เป็นโรคนี้มีโอกาสหายได้ ทำให้สามารถหยุดยาได้ในที่สุด เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้วหากสามารถปรับตัวและเลือกงานที่ไม่จำเป็นต้องใช้สมาธิมากนักก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จและดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ในขณะที่ผู้ใหญ่บางคนยังคงมีอาการของโรค ADHD อยู่มาก จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยยาอย่างต่อเนื่อง
การวินิจฉัยแต่แรกเริ่มและให้การดูแลรักษาเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นอย่างถูกต้อง เป็นสิ่งจำเป็นและเป็นประโยชน์ต่ออนาคตของเด็ก ในรายที่ได้รับการวินิจฉัยเมื่ออายุมาก หรือไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องเพียงพอ จะมีความเสี่ยงต่อการมีปัญหาหรือโรคอื่น ๆ ตามมาอีกมาก เช่น ปัญหาเด็กเกเร การติดเกม การติดยาเสพติด โรคเครียด หรือโรคซึมเศร้า เนื่องจากการวินิจฉัยโรคสามารถทำได้ไม่ยากและการรักษามักได้ผลดี จึงเป็นที่น่าเสียดายหากเด็กกลุ่มนี้ถูกละเลย โดยเฉพาะสมาชิกตัวน้อยในครอบครัวของท่านหรือแม้แต่ลูกรักของท่านเอง
ข้อมูลจาก นายแพทย์ธิติพันธ์ ธานีรัตน์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยวิชาการ โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข / ข่าวสารกรมสุขภาพจิต ISSN 0125-6475 ฉบับที่ 228 เดือนธันวาคม 2555.
นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์
ขอขอบคุณที่มา : http://www.dailynews.co.th/article/1490/179227