พฤติกรรม “เซลฟี” แชะ แชร์ เฝ้าไลก์ ส่องเมนต์ ระวังเป็นพวกขี้อิจฉา

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี

         จิตแพทย์เตือนพฤติกรรม “เซลฟี” แชะ แชร์ เฝ้าไลก์ ส่องคอมเมนต์ เข้าขั้นมีปัญหาสุขภาพจิต ชี้กระทบต่อความเชื่อมั่นในตนเอง หากคาดหวังเกินไปแต่รูปแอ๊บแบ๊วไม่ได้รับการตอบสนองจากเพื่อนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะเด็ก และวัยรุ่น โตขึ้นเป็นคนโลเล จับผิดคนอื่นเก่ง ขี้อิจฉา พัฒนาตนเองยาก อาจมีความผิดปกติอารมณ์ง่ายจนต้องบำบัด แนะจำกัดการอวดรูปตัวเอง หากิจกรรมอย่างอื่นทำ

        พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้คนทั่วโลกนิยมใช้สื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) สำรวจการใช้สื่อสังคมออนไลน์ปี 2556 พบว่า ทั่วโลกมีผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก 1,000 ล้านกว่าคนต่อเดือน ใช้งานอินสตาแกรมมากกว่า 100 ล้านคนต่อเดือน ส่วนในไทยพบประชาชนใช้เฟซบุ๊กถึง 19 ล้านคน ใช้อินสตาแกรม 8 แสนคนต่อวัน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉลี่ยแล้วเพิ่มขึ้นเดือนละ 10 ล้านคน เรื่องที่น่าห่วงคือ ประชาชนทั้งชาย และหญิง โดยเฉพาะวัยรุ่นนักเรียน นักศึกษา นิยมถ่ายรูปตัวเองไม่ว่าจะทำอะไร ไปที่ไหน กินอะไร แล้วนำไปเผยแพร่ในสังคมออนไลน์มากขึ้น หรือเรียกว่า พฤติกรรมเซลฟี (selfie) เพื่อให้เพื่อนในสังคมออนไลน์ทั้งที่รู้จักจริง และรู้จักในสังคมออนไลน์รับรู้ กดไลก์ (Like) พฤติกรรมเช่นนี้อาจส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพจิตในอนาคตได้ โดยเฉพาะเรื่องความเชื่อมั่น หรือความมั่นใจในตนเอง ซึ่งจะมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และส่งผลต่ออนาคต การงาน และการพัฒนาประเทศอย่างคาดไม่ถึง
      
       “เซลฟีจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล การลงรูปเพราะอยากได้การตอบรับจากสังคม และการได้ยอดกดไลก์ถือว่าเป็นรางวัล ซึ่งเป็นหลักปกติของมนุษย์ทั่วไป ถ้าอะไรที่ทำแล้วได้รางวัลก็จะทำซ้ำ แต่ว่ารางวัลของแต่ละบุคคลมีผลกระทบต่อความรู้สึกไม่เท่ากัน บางคนลงรูปไปแล้วได้แค่ 2 ไลก์เขาก็มีความสุขแล้ว เพราะถือว่าพอแล้ว แต่บางคนต้องให้มียอดคนกดไลก์มากๆ พอมากแล้วก็ยิ่งติด เพราะถือว่าเป็นรางวัล แต่หากได้รับการตอบรับน้อยไม่เป็นอย่างที่คาดหวังไว้ และทำใหม่แล้วก็ยังไม่ได้รับการตอบรับจะส่งผลต่อความคิดของตัวเอง บุคคลนั้นสูญเสียความมั่นใจ และส่งผลต่อทัศนคติด้านลบของตัวเองได้ เช่น ไม่ชอบตัวเอง ไม่พอใจรูปลักษณ์ตัวเอง แต่หากบุคคลนั้น สามารถรักษาความสัมพันธ์กับคนรอบข้างให้เป็นปกติได้ เซลฟีก็ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต” รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
      
       พญ.พรรณพิมล กล่าวอีกว่า นักจิตวิทยาสหรัฐอเมริกาได้ให้ข้อคิดว่า เซลฟี สามารถกัดกร่อนความมั่นใจ ความภาคภูมิใจในตัวเองได้ หากถ่ายรูปตัวเองเผยแพร่บนโลกออนไลน์เป็นบางโอกาส ถือเป็นการมีส่วนร่วมในสังคมออนไลน์ แต่หากมากไปแ ละคาดหวังจดจ่อว่าจะมีใครเข้าดู เข้ามาแสดงความคิดเห็น แสดงว่าเซลฟีกำลังสร้างปัญหา และเป็นสัญญาณหนึ่งบอกถึงการขาดความมั่นใจในตัวเอง ล่าสุด สาธารณสุขประเทศอังกฤษได้ออกมาประกาศว่า อาการเสพติดโซเชียลมีเดียถือเป็นโรคอย่างหนึ่ง ในแต่ละปีมีชาวอังกฤษเข้ารับการบำบัดมากกว่า 100 ราย

       “ความมั่นใจในตัวเองเป็นที่จำเป็นสำหรับทุกคน เพราะจะทำให้คนพอใจในตนเอง มีความสุข มีสมาธิ ไม่กังวล ไม่โหยหาความรัก และความสนใจจากคนอื่นๆ กล้าทำในสิ่งใหม่ที่เหมาะสม มีความเป็นผู้นำ กล้าเผชิญความจริง มีบุคลิกภาพดี เป็นมิตรกับคนทุกคน หากขาดความมั่นใจในตนเองแล้วจะเกิดความกังวล ลังเล ชีวิตไม่มีความสุข เมื่อมีความคิดสะสมไปเรื่อยๆ อาจมีความผิดปกติทางจิตใจอารมณ์ได้ง่าย เช่น หวาดกลัว หวาดระแวง เครียด อิจฉา ชอบจับผิดคนอื่น ซึมเศร้า อาจทำพฤติกรรมแปลกๆ มีลักษณะตรงข้ามกับความมั่นใจตัวเอง เช่น การแต่งกาย การใช้คำพูด หรือประชดชีวิตตนเอง เช่น ดื่มสุรา ใช้ยาเสพติด เป็นต้น” รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
      
       พญ.พรรณพิมล กล่าวด้วยว่า หากเยาวชนไทยขาดความมั่นใจจะทำให้ไม่กล้าลงมือทำสิ่งใหม่ในชีวิต มักทำตามคนอื่น เป็นผู้ลอกเลียนแบบ หรือทำซ้ำๆ ในสิ่งที่ทำมาแล้ว พัฒนาตนเองยาก มีผลต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต ทำให้จำนวนผู้นำน้อยลง ครอบครัวขาดเสาหลักที่มั่นคง โอกาสการสร้าง หรือพัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ เป็นไปได้ยากขึ้น หากเป็นผู้ทำงานแล้ว โอกาสความก้าวหน้าจะช้ากว่าคนอื่น วิธีป้องกันการเสพติดเซลฟี และสร้างความมั่นใจตัวเองบนโลกความเป็นจริงคือ ต้องให้ความสำคัญต่อคนรอบข้างที่เป็นสิ่งแวดล้อมจริงในชีวิตประจำวัน หากิจกรรมยามว่างทำกับคนในครอบครัว เพื่อนๆ เช่น ออกกำลังกาย ดูหนัง ฟังเพลง เที่ยวพักผ่อน และข้อสำคัญให้ยอมรับในความแตกต่างของคนที่ไม่เท่ากัน ไม่เหมือนกัน และที่สำคัญต้องฝึกความอดทนให้แก่ตัวเอง เพราะการถ่ายเซลฟีไม่สามารถที่จะทำได้ตลอดเวลา ครั้งไหนที่ทำไม่ได้ ต้องยอมฝืนใจที่จะไม่ทำ หากผ่านจุดนั้นไปได้ ครั้งต่อๆ ไปก็จะสามารถควบคุมพฤติกรรมการถ่ายเซลฟีได้เช่นกัน

ผู้จัดการออนไลน์


  View : 2.21K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 749
 เมื่อวาน 1,986
 สัปดาห์นี้ 4,720
 สัปดาห์ก่อน 13,224
 เดือนนี้ 24,127
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 816,778
  Your IP : 20.171.206.183