พลังใจปีใหม่-คุณหมอขอบอก
ปัญหาสุขภาพจิตพบได้ทุกเพศทุกวัย แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ หลายคนไม่สามารถเข้าถึงบริการ ทำให้ขาดโอกาสในการรักษาพยาบาล มาดูกันว่าปีใหม่นี้ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีหน้าที่หลักในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนไทยมีสุขภาพจิตดี ลดการเกิดปัญหาสุขภาพจิต จะมีแนวทางดำเนินงานอย่างไรในปีใหม่นี้?
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต บอกว่า ขณะนี้ยังมีคนไทยจำนวนมากที่ถูกคุกคามด้วยปัญหาสุขภาพจิตและอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะโรคซึมเศร้ามีคนป่วยกว่า 1.4 ล้านราย แต่มีเพียง 29% ที่เข้ารับบริการ ผู้ป่วยโรคจิตเภท 4 แสนราย แต่เข้าถึงบริการ 3 แสนราย ส่วนปัญหาติดสุรามี 8% ปัญหาฆ่าตัวตายสำเร็จ 5.9 ต่อแสนประชากร ปัญหาสุขภาพจิตในผู้สูงอายุ คือ โรคสมองเสื่อมพบ 3%
ปัญหาสุขภาพจิตในวัยเด็กที่พบ คือโรคออทิสติกประมาณ 60,000 ราย มีเพียง 1% เท่านั้นที่มารับบริการ ส่วนโรคสมาธิสั้นพบ 8% โรคบกพร่องทางการเรียนพบ 5% นอกจากนี้เด็กหลายคนยังมีปัญหาเรื่องความฉลาดทางสติปัญญา (ไอคิว) ความฉลาดทางอารมณ์ (อีคิว) ปัญหาท้องไม่พร้อม
การทำให้คนไทยมีความสุข มีสุขภาพจิตดี ลดความทุกข์ ลดความเครียด ลดความเศร้า ลดอัตราการฆ่าตัวตาย เป็นภารกิจสำคัญอันดับแรกในการดำเนินงานปี 2556 เพราะการมีสุขภาพจิตดีจะช่วยให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข มีความเข้าใจผู้อื่น เข้าใจตนเอง สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมและปัญหาที่เข้ามาในชีวิตได้ดี
สำหรับการสร้างความสุขให้คนไทยทุกกลุ่มวัย ทั้ง วัยเด็ก วัยเรียน วัยรุ่น วัยทำงาน และวัยสูงอายุ จะใช้การพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิต งานวิกฤติสุขภาพจิตและจิตเวชฉุกเฉิน สร้างการเข้าถึงบริการ การพัฒนาคุณภาพระบบการบริหารจัดการภาครัฐสู่มาตรฐานสากล ส่งเสริมให้ทุกคนดูแลสุขภาพจิตตนเอง คนในครอบครัว ชุมชน และสังคม ครอบคลุมทั้งผู้ที่มีสุขภาพจิตดี ผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิต ผู้ป่วยจิตเวชหรือผู้มีปัญหาสุขภาพจิต และผู้ที่เผชิญภาวะวิกฤติ โดยจะผลักดันให้เครือข่ายผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจัดบริการดูแลและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตของประชาชนให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงสุด
ทั้งนี้ตั้งเป้าให้เด็กไทยได้รับการพัฒนาทางสติปัญญาจนมีระดับไอคิวเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 100 และ 70% ของเด็กไทยมีอีคิวไม่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากกว่าหรือเท่ากับ 31% สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพจิตที่ได้มาตรฐาน มีศูนย์ให้คำปรึกษาคุณภาพเชื่อมโยงกับระบบช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียน เช่น ยาเสพติด บุหรี่ คลินิกวัยรุ่น อำเภอ รวมทั้งมีทีมวิกฤติสุขภาพจิตและทีมสุขภาพจิตฉุกเฉินคุณภาพ ทั้งหมดนี้จะช่วยให้งานสุขภาพจิตในประเทศไทยมีการปรับปรุงและพัฒนา ช่วยลดการเกิดปัญหาสุขภาพจิต ทำให้คนไทยสุขภาพจิตดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้เพื่อรองรับการก้าวสู่ประชา คมอาเซียนในปี 2558 กรมสุขภาพจิตได้เตรียมบุคลากรและงานบริการ โดยเตรียมกลุ่มนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้นำการเปลี่ยนแปลงและผู้ประสานงานในระดับกรมสุขภาพจิตให้พร้อมขับเคลื่อนงานสุขภาพจิตและผลักดันนโยบายในระดับอาเซียน ขณะเดียวกันได้เตรียมพร้อมผู้ให้บริการในหน่วยงานที่เป็นสถานบริการพื้นที่พรมแดนให้สามารถจัดบริการด้านสุขภาพจิตและจิตเวชในระดับมาตรฐานอาเซียน และสามารถตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะตามเขตพรมแดนของแต่ละประเทศ โดยกรมสุขภาพจิตได้เริ่มดำเนินการเตรียมความพร้อมมาตั้งแต่ปี 2555 และในปี 2556 จะมีการขยายผลการอบรมหลักสูตรภาษาของประเทศเพื่อนบ้านในผู้ปฏิบัติ และการเพิ่มทักษะทางภาษาอังกฤษและความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกการทำงานขององค์กรระหว่างประเทศให้ผู้บริหารด้วย
ในปีใหม่ 2556 อยากให้พี่น้องประชาชนทุกคนมี พลังใจ เพราะทุกชีวิตมีโอกาสต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิด การมีพลังใจจะช่วยให้คนเราพร้อมรับมือกับทุกการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมั่นคง
ซึ่ง พลังใจ สามารถสร้างเสริมได้ด้วยหลัก 3 อาร์
อาร์ 1 คือ รีซิสแตนส์ (Resistance) ทนแรงต้าน คือความสามารถที่จะต้านทานกับความเครียดความกดดัน ทั้งที่เกิดจากความคิดความรู้สึกภายในตัวเองและสิ่งแวดล้อม การปรับมุมมอง การจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกทางลบ และการผ่อนคลายความเครียด จะช่วยให้อยู่ในสถานการณ์ที่มีความกดดันได้
อาร์ 2 คือ รีไซเลนซ์ (Resilience) ผสานพลังใจ คือพลังใจในการปรับตัวและกลับมาดำเนินชีวิตต่อไปได้ตามปกติภายหลังประสบกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน แม้แต่เหตุวิกฤติ เช่น อุบัติเหตุ ภัยพิบัติ การตั้งสติ ควบคุมอารมณ์ให้สงบ การสร้างกำลังใจขึ้นมาใหม่ การหาที่พึ่งหรือแหล่งช่วยเหลือ และการแก้ไขปัญหาที่ดี จะช่วยให้ดำเนินชีวิตต่อไปได้
อาร์ 3 คือ รีคัพเวอรี่ (Recovery) ไม่ท้อถอย คือ ความสามารถที่จะฟื้นตัวจากความเจ็บป่วยหรือความล้มเหลว การให้เวลาเพื่อยอม รับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การมองเห็นทางออกของปัญหา การมีความหวังกำลังใจ และความพยายามอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้คนเราฟื้นตัวขึ้นมาได้
อุปสรรคและปัญหาแม้จะสร้างความ ยุ่งยากใจขณะเผชิญหน้า แต่ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการเติบโตที่เข้มแข็ง และนำพาไปสู่ความสุข ความสำเร็จและความภาคภูมิใจในชีวิตได้.
ขอขอบคุณที่มา เดลินิวส์ (นวพรรษ บุญชาญ รายงาน)