วิธีแก้ปัญหาเด็กดื้อ


รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี

        วิธีแก้ปัญหา "เด็กดื้อ" นั้นพ่อแม่ ผู้ปกครองทุกคนทำได้ ขอเพียงรู้ข้อควรปฏิบัติเวลาจะบอกให้เด็กทำอะไร และชื่นชม อบรมอย่างถูกวิธีและเหมาะสม
 เช่น การเรียกให้เด็กสนใจฟังคุณ และหันมามองคุณก่อนจะบอกให้เด็กทำอะไร เช่น “ ต้อม...มองหน้าแม่ซิ...แม่จะบอกอะไรต้อมหน่อยครับ” ชมเด็กทันทีที่เด็กหันมาให้ความสนใจที่คุณ “ ดีมากครับ...ที่หันมามองแม่” คือให้ใช้คำพูดที่ง่าย สั้น และชัดเจนทีละคำสั่ง เช่น “ เอาล่ะ...ช่วยเอาผ้านี่ไปใส่ตะกร้าให้แม่ทีครับ” เป็นต้น
                โดยทั้งหมดมีสิ่งที่ควรระลึกไว้ว่า สิ่งที่คุณต้องการให้เด็กทำต้องเป็นสิ่งที่เด็กทำได้ อย่าสั่งหรือคาดหวังให้เด็กทำในสิ่งที่เกินความสามารถของเด็ก เช่น
                1. บอกให้เด็กทำงานทีละชิ้นเพียงครั้งเดียว ให้เวลา 5 วินาทีสำหรับเด็กในการทำตามที่คุณบอก อย่าพูดซ้ำแล้วซ้ำอีกเป็นครั้งที่ 2 หรือ 3
                2. หลีกเลี่ยงการบอกให้เด็กทำงานชิ้นที่ 2 ในขณะที่เขากำลังทำงานชิ้นแรกอยู่
                3. ถ้าคุณยังไม่พร้อมที่จะเด็ดขาด เอาจริงกับเด็กเวลาเด็กต่อต้านคุณ คุณก็ยังไม่พร้อมที่จะบอกให้เด็กทำอะไร
               ทั้งนี้ เมื่อเด็กเชื่อฟัง ทำตามที่คุณบอก ควรปฏิบัติดังนี้
                1. ให้คำชมทันทีที่เด็กเริ่มทำตามที่คุณบอก “ ดีมากครับ..ที่น้องโจลุกมาเก็บของเล่นทันทีที่แม่เรียก..แม่พอใจมากเลย”
                2. ให้คำชมอีกครั้งเมื่อเด็กทำงานที่คุณสั่งสำเร็จ “ เยี่ยมจริงๆแม่เห็นเลยว่าหนูตั้งใจล้างจานพวกนี้จนสะอาดเก่งมากคะ”
                3. อย่าลืมภาษากาย !! ...แสดงความชื่นชมโดยการหอม กอด ลูบหัว ฯลฯ

 ข้อควรรู้ หากเด็กไม่ทำตามสั่งภายใน 5 วินาที ควรทำอย่างไร
                1. เริ่มนับ “ 1...2...3” (ต้องมีการคุยกับเด็กเอาไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่า หากนับถึง 3 แล้วเด็กยังไม่ทำตามที่คุณบอก จะเกิดอะไรตามมา)
                หากนับถึง 3 แล้วเด็กยังไม่ทำตามที่คุณบอก ต้องเอาจริง เด็ดขาดในการลงโทษตามกฎที่ตกลงกันไว้ เช่น ริบของเล่น หักค่าขนม ปิดทีวี ปิดเกม ตัดสิทธิในที่เด็กชอบ ฯลฯ อย่าดีแต่บ่น..ขู่ หรือใจอ่อน
                2. เพิกเฉยหากเด็กทำท่าทางไม่เหมาะสม เพื่อเรียกร้องความสนใจ หรือแสดงความหงุดหงิดไม่พอใจ เช่น บ่น งอน ปึงปัง โวยวาย ฯลฯ
                3. เด็กที่ดื้ออาจเชื่อฟังมากขึ้น เมื่อคุณพูดกับเขาด้วยน้ำเสียงที่ราบเรียบ นุ่มนวล ไม่ใช้อารมณ์ ให้โอกาสเด็กได้เลือกสิ่งที่คุณต้องการให้ทำ (แต่สิ่งที่คุณกำหนดต้องเป็นสิ่งที่คุณยอมรับได้) เช่น หากคุณต้องการให้เด็กอาบน้ำและแปรงฟัน คุณอาจจะพูดกับเด็กว่า “ โอ๋...ได้เวลาอาบน้ำ แปรงฟันแล้วครับ...แม่ให้เลือกเอาว่าโอ๋จะอาบน้ำก่อน หรือแปรงฟันก่อนดีครับ” หากเด็กไม่ยอมเลือกอะไรเลย เตือนเด็กอีกครั้งว่าบทลงโทษของเราสำหรับเด็กที่ไม่เชื่อฟังคืออะไร
                โดยใช้คำพูดทำนองนี้ “ แม่รู้แล้วว่าโอ๋ยังไม่อยากอาบน้ำตอนนี้ แต่มันได้เวลาที่โอ๋ต้องอาบแล้ว หากโอ๋เลือกที่จะไม่อาบน้ำตอนนี้ แม่ก็จำเป็นต้องทำตามกฎที่เราคุยกันไว้”
 
 
 ที่มา : เว็บไซต์ศูนย์บริการจิตวิทยาและแนะแนว โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 


  View : 1.94K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 735
 เมื่อวาน 1,828
 สัปดาห์นี้ 7,402
 สัปดาห์ก่อน 17,407
 เดือนนี้ 44,119
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 836,770
  Your IP : 18.119.192.2