การร้องอาละวาด (Temper tantrums)

 

 

การร้องอาละวาด (Temper tantrums)

โดย พญ.วรวรรณ จงสง่าวิทยาเลิศ

 

          การร้องอาละวาด หมายถึง พฤติกรรมแสดงความไม่พอใจ เช่น การกรีดร้อง ตะโกน กระทืบเท้า นอนดิ้นกับพื้น ฟาดแขนขา จนถึงทำร้ายตนเองหรือผู้อื่น เพื่อระบายความโกรธหรือความคับข้องใจ ซึ่งเป็นอารมณ์ที่ควบคุมได้ยากในเด็กเล็ก

ระบาดวิทยา 
          การร้องอาละวาดเป็นพัฒนาการปกติที่เด็กกำลังเรียนรู้การควบคุมตนเอง เริ่มพบได้ตั้งแต่อายุ 12 ถึง 18 เดือน พบบ่อยในช่วงอายุ 2 ถึง 3 ปี พบร้อยละ 50-80 มีการร้องอาละวาดอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งในช่วงวัยนี้ และจะค่อยๆลดลงจนหายไปเมื่ออายุ 4 ปี การร้องอาละวาดรุนแรงพบประมาณร้อยละ 5 มักพบในเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีเศรษฐานะต่ำ

อาการ         
         มักเริ่มจากความโกรธ ไม่พอใจ ตามมาด้วยการร้องไห้รุนแรง ล้มตัวนอนกับพื้น ฟาดแขนขาไปมา อาจทำร้ายตนเองหรือคนอื่น บางคนร้องมากจนเกิดการร้องกลั้น (breath holding spell) ส่วนใหญ่การร้องอาละวาดใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที เนื่องจากการร้องอาละวาดอาจเป็นพัฒนาการปกติตามวัยหรือเป็นการร้องอาละวาดที่เป็นปัญหา ผู้ปกครองควรทราบลักษณะของการอาละวาดที่เป็นปัญหา

การร้องอาละวาดที่เป็นปัญหา         
         1.พ่อแม่คิดว่าเป็นปัญหา หรือเกิดขึ้นบ่อยที่โรงเรียน
         2.ร้องตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปต่อวัน แต่ละครั้งร้องนานเกิน 15 นาที
         3.มีปัญหาพฤติกรรมอื่นๆร่วมด้วย เช่น ปัญหาการนอน ปัญหาการเรียน ปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อน
         4.มีการทำลายข้าวของ ทำร้ายตนเอง ทำร้ายผู้อื่นร่วมด้วย

ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการร้องอาละวาด
1. โรคหรือการเจ็บป่วยทางกาย

         ปัญหาโรคต่างๆเช่น ภูมิแพ้ ภาวะติดเชื้อที่ทางเดินหายใจ หูอักเสบ โรงระบบทางเดินอาหาร การนอนไม่พอจากปัญหาการนอนกรม การเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลย่อยๆส่งผลให้เด็กรู้สึกไม่สบาย เหนื่อยหรือง่วง การได้รับยาบางชนิด เช่น ยากันชัก ยาภูมิแพ้ เป็นต้น อาจทำให้เด็กง่วงนอนและร้องอาละวาดได้บ่อย
2. โรคหรือปัญหาทางพัฒนาการหรือพฤติกรรม
         ตามพัฒนาการปกติของเด็กอายุ 2-3 ขวบ จะมีความรู้สึกอยากเป็นตัวของตัวเอง (Autonomy) ยังเด็กวัยนี้ยังไม่สามารถแสดงความต้องการของตนเองได้ดีนัก ดังนั้นเมื่อเด็กเกิดความคับข้องใจก็จะควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้
ส่วนในเด็กที่มีภาวะบกพร่องทางพัฒนาการ เช่น ภาวะออทิสติก สติปัญญาบกพร่อง ซน สมาธิสั้น ปัญหาทางสายตาหรือการได้ยินที่ไม่ได้รับการวินิจฉัย พัฒนาการทางภาษาล่าช้า ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะทำให้เด็กมีความเสี่ยงต่อการร้องอาละวาดมากขึ้น
3. พื้นอารมณ์
         เด็กที่มีพื้นอารมณ์แบบเลี้ยงยาก (Difficult temperament) คือ มีจังหวะการนอน การกิน หรือการขับถ่ายไม่เป็นเวลา ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงยาก อารมณ์หงุดหงิดง่าย มีความอดทนต่ำ ความรู้สึกไวต่อสิ่งเร้า วงจรการนอนและความหิวไม่สม่ำเสมอ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการร้องอาละวาด หากผู้ปกครองตอบสนองต่อความต้องการไม่เหมาะสมก็จะยิ่งกระตุ้นให้เด็กมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมมากขึ้น
4. การเลี้ยงดู
         การเลี้ยงดูแบบตามใจมากหรือเข้มงวดมากเกินไป พ่อแม่มีอารมณ์ทางลบอย่างรุนแรงต่อเด็ก ควบคุมอารมณ์ตนเองได้ไม่ดี ใช้วิธีลงโทษที่รุนแรง การมีข้อจำกัดแบบไม่สม่ำเสมอ หรือพ่อแม่ที่เป็นโรคซึมเศร้า ใช้สารเสพติด จะทำให้เด็กหงุดหงิดไม่พอใจได้ง่าย เด็กเรียนรู้การควบคุมอารมณ์ที่ไม่เหมาะสมจากพ่อแม่ นำไปสู่การแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในตัวเด็กและปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัวได้

การช่วยเหลือ
         การให้ความรู้กับพ่อแม่เป็นสิ่งสำคัญ ควรอธิบายให้พ่อแม่เข้าใจว่าการร้องอาละวาดเป็นพฤติกรรมที่ปกติของเด็กวัยนี้ และจะหายไปหากได้รับการช่วยเหลืออย่างเหมาะสม หากมีปัจจัยที่ทำให้เกิดการร้องอาละวาดควรแก้ไข เช่น เด็กพูดช้าควรส่งฝึกพูด มีภาวะหรือโรคทางกาย ก็ควรรักษาภาวะเหล่านั้น เป็นต้น

การป้องกันการร้องอาละวาด
         • กำหนดขอบเขตของสิ่งที่ทำได้หรือทำไม่ได้ให้ชัดเจน เหมาะสมกับอายุของเด็ก และต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดนั้นอย่างสม่ำเสมอ
         • จัดกิจวัตรประจำวันให้เป็นเวลา โดยเฉพาะการกินและการนอน
         • การให้เด็กเลิกกิจกรรมที่เด็กสนใจ เช่น ให้เลิกเล่น อาจกระตุ้นให้เด็กไม่พอใจ ควรเตือนเด็กล่วงหน้าก่อนจะให้เด็กเลิกกิจกรรมนั้น
         • หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เด็กหงุดหงิดหากเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น เช่นการทำกิจกรรมที่เกินตามสามารถตามวัยของเด็ก หากเด็กเริ่มหงุดหงิดพยายามเบี่ยงเบนเด็กให้สนใจอย่างอื่นแทน
         • สอนเด็กให้ใช้คำพูดแสดงความรู้สึกหรือความต้องการแทนการแสดงออกทางกาย
         • เปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกบ้าง และตัวเลือกนั้นพ่อแม่ต้องยอมรับได้
         • พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูความเป็นตัวอย่างที่ดีของการควบคุมอารมณ์ ไม่ต่อว่าเด็กด้วยอารมณ์หรือลงโทษด้วยวิธีที่รุนแรง
         • ควรให้ความสนใจทางบวกแก่เด็กอย่างสม่ำเสมอ เช่น ชมเชยหากเด็กมีพฤติกรรมที่ดี เพื่อให้เด็กมีแรงจูงใจที่จะทำพฤติกรรมที่ดีมากขึ้น

การแก้ไขขณะเกิดการร้องอาละวาด         
         พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูควรนิ่งสงบไม่ควรตะโกนหรือแสดงอาการโกรธให้เด็กเห็น จะยิ่งทำให้การร้องอาละวาดเป็นมากขึ้น
         • อาจใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจในช่วงแรกโดยเฉพาะเด็กเล็ก หากไม่ได้ผลควรวางเฉย อาจยืนอยู่ห่างๆโดยไม่ต้องพูดหรือสนใจจนกว่าเด็กจะสงบลง
         • ในเด็กโตควรแยกให้เด็กอยู่คนเดียว (time-out) และเก็บสิ่งของที่อาจเป็นอันตรายให้พ้นมือเด็ก
         • หากเด็กทำร้ายตนเอง ผู้อื่น หรือข้าวของให้จับเด็กออกมาจากบริเวณนั้น กดหรือจับมือเด็กไว้จนกว่าเด็กจะสงบ
         • เมื่อเด็กสงบแล้วให้เข้าไปคุยกับเด็กตามปกติ หากเป็นเด็กโต อาจพูดคุยถึงสิ่งเกิดขึ้นและวิธีการแก้ไขต่อไป
         • หากเด็กร้องเพราะไม่ต้องการทำกิจกรรมบางอย่าง เช่น ไม่อยากเข้านอน ควรยืนยันในสิ่งที่เด็กต้องทำแม้ว่าเด็กกำลังร้องอาละวาดอยู่ เพราะหากยืดเวลาออกไปจะทำให้เด็กใช้พฤติกรรมนี้ทุกครั้งที่รู้สึกคับข้องใจ
         • ไม่ควรลงโทษรุนแรงเมื่อเด็กร้องอาละวาด เพราะจะทำให้เด็กโกรธและหงุดหงิดมากขึ้น

         จากที่กล่าวมาจะพบว่าการร้องอาละวาดเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการปกติ พ่อแม่และผู้เลี้ยงดูควรมีความรู้ความเข้าใจในการสังเกตลักษณะการร้องอาละวาดที่เป็นปัญหา ตลอดจนวิธีการที่เหมาะสมในการป้องกันและแก้ไขขณะที่เด็กอาละวาด หากเด็กได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสมการร้องอาละวาดจะดีขึ้นจนค่อยๆหายไปได้

 

เอกสารอ้างอิง
1.วิรงรอง อรัญนารถ. ปัญหาพฤติกรรมที่พบบ่อยในเด็กวัยแรเกิดถึง 3 ปี. ตำราพัฒนาการเด็กและพฤติกรรมเด็ก เล่ม 3, 2556 : 215-225

    ..................................................

  View : 12.61K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Rett's Syndrome
14 ม.ค. 2556

 วันนี้ 478
 เมื่อวาน 2,126
 สัปดาห์นี้ 2,653
 สัปดาห์ก่อน 13,308
 เดือนนี้ 42,840
 เดือนก่อน 52,950
 จำนวนผู้เข้าชม 602,136
  Your IP : 18.218.6.36