กรมสุขภาพจิตเผยวัยทำงานเสี่ยงเกิดเครียดได้สูง แนะ 10 วิธีดูแลใจให้มีสุขรายวัน มีผลงานดีขึ้น

กรมสุขภาพจิต เผยวัยทำงาน เป็นกลุ่มเกิดความเครียดได้สูง เผยในรอบ 3 ปี พบวัยทำงานอายุ 22-59 ปี โทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 สูงอันดับ 1 รวม 100,000 กว่าสาย เรื่องที่ปรึกษามากสุด 3 อันดับแรกคือ เรื่องการกินยารักษาอาการป่วยทางจิตใจ ความเครียดวิตกกังวล และสารเสพติด เร่งจับมือหน่วยงานเกี่ยวข้อง ดูแลสุขภาพใจคนทำงาน พร้อมแนะเทคนิคสร้างสุขรายวัน 10 วิธีให้ตัวเอง ผลงานวิจัยพบว่าช่วยเพิ่มผลผลิตได้ถึงร้อยละ20 

       นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 1 พฤษภาคม ทุกปี เป็นวันแรงงานแห่งชาติ กรมสุขภาพจิตมีความเป็นห่วงสุขภาพจิตของวัยทำงาน ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับวัยอื่น ขณะนี้มี 38 ล้านกว่าคนทั่วประเทศ ประมาณร้อยละ 70 อยู่ในภาคอุตสาหกรรมที่เหลืออยู่ในภาคเกษตรกรรม วัยทำงานนี้ เป็นกลุ่มเสี่ยงเกิดความเครียด ทั้งจากการทำงาน ครอบครัว เศรษฐกิจ ซึ่งเป็นต้นตอสำคัญทำให้เกิดการเจ็บป่วยโรคทางกาย เช่นโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และปัญหาติดสุรา ใช้สารเสพติด การใช้ความรุนแรงในครอบครัว เป็นต้น 
จากข้อมูลสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ที่ให้บริการปรึกษาปัญหาฟรีตลอด 24 ชั่วโมง ในรอบ 3 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2558-2560 พบว่าผู้ใช้บริการมากที่สุดคือกลุ่มวัยทำงาน อายุ 22-59 ปี จำนวน 105,967 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 62 ของผู้ใช้บริการทั้งหมด169,728 ครั้ง อันดับ 1 ร้อยละ 36 คือเรื่องการกินยารักษาอาการป่วยทางจิตใจ ,อันดับ 2 ร้อยละ 28 คือความเครียดหรือวิตกกังวล เช่นกังวลเกี่ยวกับอนาคต เรื่องคนอื่น เรื่องทั่วๆไป , อันดับ 3 ร้อยละ 10 เรื่องปัญหาสารเสพติด 

      อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวต่อว่า ในการส่งเสริมให้วัยทำงานมีความสุขทั้งการทำงานและชีวิตครอบครัว กรมสุขภาพจิตได้บูรณาการทำงานร่วมกันหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุขในโครงการ “วัยทำงานปลอดโรค ปลอดภัย กายใจเป็นสุข” ดูแลวัยแรงงานครอบคลุมทั้งสุขภาพกาย ใจ ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผลการศึกษา พบว่าการสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย จะช่วยส่งเสริมให้วัยแรงงานมีความสุข นำไปสู่การเพิ่มผลผลิต และประสิทธิภาพในการทำงานได้ถึงร้อยละ 12-20 ส่งผลให้เกิดความผูกพันต่อองค์กร ที่ผ่านมามีสถานประกอบการสมัครเข้าร่วมโครงการแล้วเกือบ 3,000 แห่ง ในปีนี้ จะขยายความร่วมมือกับ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานประกันสังคม และกรมควบคุมโรค โดยจะลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมมือ (MOU) ในเดือนนี้ ได้มอบหมายให้สำนักส่งเสริมสุขภาพจิตเป็นหน่วยงานหลักดำเนินการ 

ทางด้าน นางสุดา วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในความร่วมมือดังกล่าวนี้ สำนักฯจะสนับสนุนด้านวิชาการ องค์ความรู้ต่างๆ ให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลของสถานประกอบการ เช่น เทคนิคการสร้างสุข การคลายเครียด แบบคัดกรองและประเมินสุขภาพจิต เพื่อให้จัดระบบปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตให้วัยแรงงานกลุ่มเสี่ยงของหน่วยงานในเบื้องต้นได้ เช่นผู้ที่สูญเสียบุคคลในครอบครัว ทรัพย์สิน มีหนี้สิน เจ็บป่วยโรคเรื้อรัง เป็นต้น สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ 02-590-8235และ 02-5908168 

ในส่วนของประชาชน สามารถสร้างความสุขง่ายๆรายวันให้แก่ตนเองในการทำงาน มีข้อแนะนำ 10 ประการดังนี้ 
1. ทบทวนถึงสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ชื่นชมข้อดีของตนเองและผู้อื่น พร้อมเริ่มต้นวันใหม่ด้วยความสุข 2. มีอารมณ์ขันและส่งยิ้มให้กันอยู่เสมอ 3. กล่าวคำขอบคุณให้เป็นนิสัย และขอโทษเมื่อทำผิด 4. ตั้งเป้าหมายถึงสิ่งที่จะทำให้ชีวิตมีความสุข และลงมือทำให้สำเร็จ 5. หยุดคิดเล็กคิดน้อย ยอมรับข้อบกพร่องของผู้อื่น 6. จัดสรรเวลาให้สมดุล ตามหลัก 8-8-8 คือทำงาน 8 ชั่วโมง เวลาที่เหลืออีก 2 ส่วนคือการนอนหลับและให้เวลากับครอบครัว 7. ใส่ใจสุขภาพ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 วัน ช่วยคลายความเครียด นอนหลับดีขึ้น หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุราและสารเสพติด 8. ออฟไลน์ออกจากโลกโซเชียล แล้วหันมาพูดคุย ทำกิจกรรมต่างๆร่วมกับคนใกล้ชิดและคนรอบข้าง 9. ทำงานอดิเรกที่ชอบหรือทดลองทำอะไรใหม่ๆ และ 10. ยึดหลักความพอเพียงในการดำเนินชีวิต พอใจในสิ่งที่ตัวเองมี ผลวิจัยยืนยันว่าคนทำงานที่มีความสุขจะเพิ่มผลผลิตมากกว่าคนทำงานที่ไม่มีความสุขถึงร้อยละ 20 


************** 1 พฤษภาคม 2561

 

  View : 10.45K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 357
 เมื่อวาน 1,589
 สัปดาห์นี้ 5,209
 สัปดาห์ก่อน 17,407
 เดือนนี้ 41,926
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 834,577
  Your IP : 51.222.253.15