ตีลูกดีไหม???

เผยแพร่โดย ฝ่ายสื่อสารองค์กร กลุ่มพัฒนายุทธศาสตร์

แนวคิดในการเปลี่ยนสุภาษิต “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” เป็น “รักวัวให้ผูก รักลูกให้กอด” มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ส่วนใหญ่หนักไปทางไม่เห็นด้วยมากกว่า คุณพ่อคุณแม่หลายท่านคงอยากรู้ว่าในปัจจุบันการตีลูกยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่ และการที่พ่อแม่กอดลูกมีความสำคัญอย่างไร

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผอ.สำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรณีที่เด็กทำความผิดรุนแรง จำเป็นต้องควบคุม กำกับอย่างหนักแน่น ชัดเจน การตีจึงเป็นทางเลือกหนึ่งได้ ส่วนตัวเชื่อว่าการตีลูกที่เรารัก เราตีได้

ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าตี หรือไม่ตี แต่อยู่ที่ว่าตีอย่างไร ถ้าผู้ใหญ่เข้าใจว่าการตีนั้นทำไปเพื่อให้เด็กรู้ว่านี่คือการลงโทษขั้นสูงสุด การตีควรเก็บเอาไว้ใช้สำหรับพฤติกรรมที่เป็นปัญหาสูงสุดเท่านั้น คือ ในกรณีการทำร้ายตัวเอง การทำร้ายคนอื่น และการทำลายข้าวของ

ทั้ง 3 ความผิดดังกล่าวเราสามารถเลือกใช้การตีได้ และการตีทำไปเพราะเรามองเห็นความผิดถูกที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ตีด้วยอารมณ์โกรธหรือฉุนเฉียวของคุณพ่อคุณแม่ แต่เป็นการตีจากความรัก ปรารถนาดีที่จะให้เด็กจดจำว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับชีวิตของเขา และเขาไม่ควรทำ

รูปแบบในการตีเด็กที่เหมาะสม ไม่ควรตบหน้า ไม่ใช่การหวดด้วยอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เป็นการทำร้ายเด็ก เช่น ไม้เรียว ไม้แขวนผ้า เข็มขัด

โดยทั่วไปแนะนำให้ใช้มือตีมือของเด็ก ทำให้สามารถกะน้ำหนักได้ และสีหน้าท่าทางต้องจริงจัง ไม่ใช่เกรี้ยวกราด อาละวาด ด่าทอ ต้องมีท่าทีที่หนักแน่น และบอกถึงเหตุผลในการตี ว่าพ่อแม่เองก็ไม่ได้มีความสุขที่ต้องตีเขา

ขณะเดียวกันควรชี้แนะว่าโอกาสหน้าถ้าหากมีพฤติกรรมอย่างนี้อีกอยู่ เด็กจะต้องอยู่ภายใต้กฎศักดิ์สิทธิ์นี้เช่นกัน คือ ต้องโดนตี ถ้าชี้แนะ กำกับกฎวินัยตรงนี้ให้ชัดเจน ส่วนใหญ่แล้วแทบไม่ต้องตีลูกเลย ขณะเดียวกันควรใช้วินัยทางบวกเข้ามาควบคู่ด้วย เช่น เวลาเด็กทำดี หรือมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น ต้องชื่นชมให้กำลังใจ หรือถ้าเป็นความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ใช้วิธีกำชับด้วยท่าทีที่หนักแน่น เอาจริงเอาจัง

ในทางจิตวิทยาไม่สนับสนุนให้ใช้เครื่องทุ่นแรงในการตี ไม่ว่าไม้เรียว ไม้แขวนเสื้อ เข็มขัด เพราะแก่นของการตีไม่ใช่เครื่องมือ แต่คืออารมณ์ ถ้าอารมณ์เรานิ่งสงบ เรารักลูก อยากสอนลูก การตีด้วยสิ่งเหล่านี้จะมีความบันยะบันยัง แต่ก็อาจชี้ชวนให้เด็กเข้าใจได้เหมือนกันว่า การลงโทษเกิดจากการเกลียดชัง ดังนั้นทางที่ดีเด็กควรรับรู้ว่าการลงโทษเกิดจากการกระทำผิดที่ต้องแก้ไข และสิ่งที่แฝงเร้นในการตี คือ ความรัก ที่พ่อแม่ต้องการให้เขาเป็นคนดี ไม่ได้มาจากความโกรธ ความเกลียด หรือการระบายอารมณ์

ตีลูกได้ตั้งแต่อายุกี่ขวบ ? พญ.อัมพร กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับรับรู้เหตุและผลของเด็ก โดยทั่วไปเด็กอายุก่อน 3 ขวบ ไม่เคยนึกถึงวิธีการตี เพราะส่วนใหญ่เด็กที่ไม่รู้ความ การสื่อสารยังเป็นข้อจำกัดอยู่ การตีเป็นสิ่งที่รุนแรงเกินไป เด็กยังไม่รู้เรื่องเหตุและผล ยังไร้เดียงสาอยู่ เช่น เด็กเอามือไปแหย่ปลั๊กไฟ จะบอกว่าเด็กทำร้ายตัวเองคงไม่ใช่ แต่เด็กที่เริ่มเข้าใจเหตุและผลบ้างแล้วประมาณ 3 ขวบ การที่เขาไปตีเด็กคนอื่นเพื่อแย่งชิงสิ่งของ ก็ควรถูกห้ามด้วยสายตาที่จริงจัง ขึงขัง และบอกว่า ถ้าหนูตีเพื่อนหนูถูกตี เด็กก็จะเรียนรู้ว่าทำไม่ได้ แต่ถ้าเด็กโมโหเอาหัวโขกฝา ทึ้งผมตัวเอง ก็ต้องจับมือเขารวบแน่น ๆ และสบตาบอกเขาว่า หนูทำตัวเองเจ็บไม่ได้ เพราะแม่เสียใจ หนูถูกตี ทำท่าตีมือให้เขารู้ว่าต้องโดนตีแบบนี้ ซึ่งการตีที่มือน้อยกว่าที่เด็กทำร้ายตัวเอง มันเป็นสัญลักษณ์การลงโทษ

ส่วน “การกอด” ถูกยอมรับอย่างเป็นสากลว่า เป็นประโยชน์ และเป็นอีกเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาเด็ก เพราะการสัมผัสมีผลตั้งแต่ทารก ทำให้เซลล์สมองทำงานได้ดีขึ้น การสัมผัสสร้างความรัก ความผูกพัน และเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เด็กได้เรียนรู้ความรักมากกว่าวิธีการใด ๆ เพราะฉะนั้นการที่บอกว่ารักลูกให้กอดนั้นใช่ แต่มีความจำเป็นที่จะต้องไปเปลี่ยนสุภาษิตหรือไม่ อันนี้แล้วแต่มุมมอง ทั้งนี้ไม่ว่าสุภาษิตจะว่าอย่างไร เราก็ควรให้ความสำคัญกับการกอด การกอดลูก ก็จะมีประโยชน์กับตัวลูก ทำให้สายสัมพันธ์ในครอบครัวดีขึ้นด้วย

ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการไปเปลี่ยนสุภาษิตที่มีมาแต่โบราณ มันเป็นการสะท้อนถึงภูมิปัญญา เป็นความสวยงามของภาษา บางครั้งเกิดแง่มุมให้ตีความตามหลักคิดที่แต่ละคนมีอยู่ อาจตีความเหมือนกันหรือแตกต่างกันก็ได้ ซึ่งถ้าเอาไปใช้งานที่ถูกต้องก็ย่อมเกิดประโยชน์.

นวพรรษ บุญชาญ รายงาน


 ขอขอบคุณที่มา : http://www.dailynews.co.th/article/1490/152796


  View : 23.20K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 0
 เมื่อวาน 13
 สัปดาห์นี้ 62
 สัปดาห์ก่อน 97
 เดือนนี้ 345
 เดือนก่อน 536
 จำนวนผู้เข้าชม 476,781
  Your IP : 44.212.26.248