กระทรวงสาธารณสุขเร่งพัฒนาไอคิวเด็กไทย มั่นใจปี59 เท่าเด็กสากล

เผยแพร่โดย ฝ่ายสื่อสารองค์กร กลุ่มพัฒนายุทธศาสตร์ สถาบันราชานุกูล

   นายแพทย์ชลน่าน  ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข  เปิดเผยว่า  จากการที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาเด็กไทย ให้มีความฉลาดทางสติปัญญาหรือไอคิว (IQ) และความฉลาดทางอารมณ์หรืออีคิว (EQ) เพิ่มมากขึ้นในระดับที่ไม่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานสากล ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำโครงการพัฒนาสติปัญญาเด็กไทยมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา โดยพัฒนาองค์ความรู้พื้นฐาน เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาสติปัญญาเด็กไทย 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเด็ก แรกเกิด – 5 ปี กลุ่มวัยเรียน  6 – 11 ปี และกลุ่มวัยรุ่น 12 – 18 ปี  พัฒนาพื้นที่ต้นแบบเพื่อการพัฒนาสติปัญญาเด็กไทย พัฒนาระบบข้อมูล ขยายผลลงสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
    ผลการสำรวจไอคิวนักเรียนไทยทั่วประเทศ ในปี 2554 พบเด็กไทยมีไอคิวเฉลี่ย 98.59 จุด ต่ำกว่าค่ากลางมาตรฐานสากลยุคปัจจุบันคือ 100 จุด โดยในเขตกรุงเทพมหานคร มีระดับไอคิวเฉลี่ยสูงสุด 104.5  จุดรองลงมาคือภาคกลาง 101.29 จุด  ภาคเหนือ 100.11 จุด  ภาคใต้ 96.85 จุด  และภาคอีสานน้อยที่สุดคือ 95.99 จุด ในปี 2556 นี้ กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายส่งเสริมให้เด็กมีไอคิวสูงขึ้น โดยเน้นพื้นที่ดำเนินงาน 3 จุด คือที่คลินิกเด็กสุขภาพดีโรงพยาบาลทั่วประเทศ  และ 2.ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีประมาณ 20,000 แห่งทั่วประเทศ  และ 3.สอนพ่อแม่มีความรู้ มีทักษะในการอบรมเลี้ยงดูเด็ก เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวติดต่อกัน 6 เดือน  ซึ่งจะทำให้พ่อแม่ร่วมดูแลเสริมสร้างไอคิวลูก สามารถสังเกต เฝ้าระวังความผิดปกติ มีพัฒนาการล่าช้าของลูก และเร่งแก้ไขให้มีการพัฒนาอย่างเต็มที่  โดยในปี  2559 กระทรวงสาธารณสุขจะทำการสำรวจไอคิวเด็กไทยอีกครั้ง มั่นใจว่าไอคิวของเด็กไทยจะเข้าสู่มาตรฐานสากลคือ 100 จุด
 
   ทางด้านนายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต  กล่าวว่า ในเรื่องของการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์หรืออีคิว ผลสำรวจของกระทรวงสาธารณสุขล่าสุดในปี 2554 พบเด็กนักเรียนไทยอายุ 6-11 ปี ค่าคะแนนอีคิวเฉลี่ยพื้นฐานระดับประเทศอยู่ที่ 45.12 ซึ่งระดับต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ   โดยมีเด็กที่มีค่าเฉลี่ยคะแนนอีคิวพื้นฐานอยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ 50 ขึ้นไปมีเพียงร้อยละ 28  โดยมีเด็กที่มีคะแนนต่ำกว่าปกติ จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาร้อยละ 80 เพื่อให้ครบองค์ประกอบ 3 ด้านคือ ดี เก่ง สุข  ประเด็นที่น่าเป็นห่วง และพบว่ามีคะแนนต่ำที่สุดคือ มุ่งมั่นพยายามและกล้าแสดงออก อย่างละร้อยละ 43 และรื่นเริงเบิกบาน ร้อยละ 45
    นายแพทย์วชิระกล่าวต่อว่า  เมื่อนำผลรวมของคะแนนอีคิว ที่ได้มาจากการประเมินของครูฉบับเดียวกันในปี 2545 และปี 2550 พบว่า คะแนนดิบอีคิวของเด็กไทยมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ในปี 2554  อยู่ที่ 170 ซึ่งต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับปี  2550 ซึ่งได้ 180  และในปี 2545 ได้ 186 และมีค่าคะแนนอีคิวทั้งองค์ประกอบด้านดี เก่ง สุข และด้านย่อยทุกด้านนั้นปี 2554 ต่ำสุดเช่นกัน  ดังนั้นในปี 2556  กรมสุขภาพจิต จึงเร่งเสริมสร้างความมุ่งมั่นพยายามให้กับเด็กทั้ง 3 กลุ่มวัยคือ เด็กปฐมวัย  เด็กวัยเรียน และวัยรุ่น ที่อยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก  โรงเรียนระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา  เพื่อนำเด็กไทยก้าวสู่ประชาคมอาเซียน คาดหวังว่าอีคิวเด็กไทยจะดีขึ้นเมื่อสำรวจอีกครั้งในปี 2559


  View : 3.24K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 849
 เมื่อวาน 1,376
 สัปดาห์นี้ 6,872
 สัปดาห์ก่อน 6,556
 เดือนนี้ 23,513
 เดือนก่อน 57,053
 จำนวนผู้เข้าชม 872,681
  Your IP : 3.144.102.43