ลูกจ๋าได้ยินไหม

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี

         ปัญหาของเด็กที่ทำให้พ่อแม่กังวลใจอย่างหนึ่ง คือ “หูตึง” ซึ่งอาจแสดงอาการโดย เรียกชื่อแล้วไม่หันมาหา เรียนช้า พูดไม่ชัด หรือไม่ตอบสนองต่อเสียงดัง หากหูตึงรุนแรงมากหรือหูหนวก และปล่อยทิ้งไว้ โดยไม่ได้รักษาอาจพูดไม่ได้หรือเป็นใบ้ จากสถิติพบว่าในเด็ก 1,000 คน จะพบว่ามี 1 คน ที่มีปัญหาการได้ยิน และพบเด็กหูหนวกในอัตรา 4 คนต่อ 10,000 คน โดยครึ่งหนึ่งของเด็กหูตึงแต่กำเนิด มีสาเหตุจากพันธุกรรม ในเด็กหูตึงเพียงข้างเดียวอาจจะสังเกตได้ยาก เพราะเด็กมักจะไม่แสดงความผิดปกติ แต่มีการศึกษาพบว่า แม้เด็กมีหูตึงเพียงข้างเดียว ก็จะแยกแยะทิศทางของเสียง และแปลความหมายของเสียงในบริเวณมีเสียงรบกวนได้แย่กว่าเด็กปกติ

        สาเหตุของการได้ยินลดลงในเด็ก เกิดจากความผิดปกติของพันธุกรรม เกิดความผิดปกติในหูชั้นใน หรือเส้นประสาทหู หรือเกิดความผิดปกติของหูร่วมกับความผิดปกติของอวัยวะอื่น เช่น ใบหน้าผิดรูป เด็กกลุ่มอาการดาวน์ เกิดความผิดปกติในระยะตั้งครรภ์ เช่น แม่เกิดการติดเชื้อในระยะตั้งครรภ์ เช่น หัดเยอรมัน ไวรัสเริม หรือมีภาวะแท้งคุกคาม แม่ทานยาบางชนิดหรือดื่มแอลกอฮอล์มากขณะตั้งครรภ์

        เกิดความผิดปกติจากการคลอดหรือความผิดปกติหลังคลอด เช่น เด็กขาดออกซิเจนขณะอยู่ในครรภ์หรือระหว่างคลอด เด็กน้ำหนักแรกคลอดน้อยกว่า 1,500 กรัม หลังคลอดเกิดภาวะตัวเหลืองจนต้องถ่ายเลือด หรือเกิดความผิดปกติภายหลังเมื่อเป็นทารก สาเหตุที่พบบ่อย ๆ ได้แก่ ขี้หูอุดตัน หูน้ำหนวก เยื่อหุ้มสมองอักเสบ คางทูม หัด อีสุกอีใส การใช้ยาที่เป็นพิษต่อหู และอุบัติเหตุทางศีรษะ

        เมื่อสงสัยเด็กมีหูตึง ควรทำอย่างไร อันดับแรกคือพบแพทย์หู คอ จมูก เพื่อตรวจร่างกาย ตรวจหู และพบกุมารแพทย์เพื่อประเมินพัฒนาการด้านอื่น ๆ เพื่อวัดระดับการได้ยินโดยในเด็กทารก เด็กเล็ก หรือเด็กที่ไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจ จะต้องใช้การตรวจการได้ยิน โดยใช้วิธีพิเศษ เช่น การตรวจวัดเสียงสะท้อน จากเซลล์ขนในหูชั้นใน (otoacoustic emissions ) หรือ การตรวจการได้ยินระดับก้านสมอง (auditory brainstem response) ซึ่งสามารถตรวจได้ในขณะที่เด็กหลับสนิท เด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสหูตึง หรือมีเป็นโรคซึ่งเป็นสาเหตุของการได้ยินลดลง ที่กล่าวข้างต้น ทุกคน ต้องได้รับการตรวจการได้ยินทันที ถึงแม้เด็กยังไม่แสดงอาการก็ตาม

         รักษาสาเหตุและฟื้นฟูการได้ยิน หากเกิดจากหูชั้นนอกหรือหูชั้นกลาง แพทย์สามารถให้การรักษาด้วยยา หรือการผ่าตัด แต่ในกรณีที่ความผิดปกติเกิดจากหูชั้นในหรือสมอง มักจะต้องใส่เครื่องช่วยฟังหรือผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม เพื่อพัฒนาทักษะทางการพูดให้ใกล้เคียงคนปกติ หลังการฟื้นฟูการได้ยิน ควรมาฝึกการใช้เครื่องช่วยฟัง และฝึกการออกเสียงพูดโดยนักแก้ไขการได้ยินและนักแก้ไขการพูด

         การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม เป็นการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมเข้าไปในหูชั้นใน เหมาะสมในเด็กตั้งแต่ อายุ 1 ขวบขึ้นไป และผู้ใหญ่ที่มีหูตึงรุนแรงหรือหูหนวกทั้งสองข้าง (ระดับการได้ยินมากกว่า 80 เดซิเบล) สุขภาพแข็งแรง สติปัญญาปกติ ไม่มีความผิดปกติทางจิต และต้องสามารถเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพการได้ยินหลังการผ่าตัด และติดตามผลเป็นระยะ ๆ ได้ ในเด็กพบว่าการผ่าตัดเมื่ออายุน้อยจะมีการพัฒนาการพูด การเรียนรู้ ดีกว่าเมื่อผ่าตัดในอายุมาก เพราะปัจจัยที่กล่าวในข้างต้นมีผลต่อการได้ยินหลังผ่าตัดทั้งสิ้น ดังนั้นก่อนผ่าตัดต้องมีการประเมินการได้ยิน ตรวจสุขภาพร่างกายและจิตใจ รวมทั้งให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยและผู้ปกครองอย่างครบถ้วน

          กลไกการได้ยินเมื่อใช้ประสาทหูเทียม ต้องผ่านเครื่องทั้งสองส่วน คือ เครื่องแปลงสัญญาณภายนอก และตัวประสาทหูเทียมที่ฝังภายใน เครื่องภายนอกซึ่งจะแปลงเสียงที่ได้ยิน ให้เป็นสัญญาณดิจิตอลส่งผ่านหนังศีรษะ เข้าสู่ตัวประสาทหูเทียมซึ่งจะแปลงสัญญาณดังกล่าวเป็นกระแสไฟฟ้า เข้าไปกระตุ้นเส้นประสาทรับเสียงในหูชั้นใน

         เครื่องภายนอกและประสาทหูเทียม ยึดแนบติดกันด้วยแม่เหล็กผ่านหนังศีรษะบริเวณหลังใบหู โดยแม่เหล็กชิ้นนอกอยู่ที่อุปกรณ์ติดศีรษะ และแม่เหล็กชิ้นในอยู่ที่ประสาทหูเทียมที่ฝังในกะโหลกศีรษะ การใช้ประสาทหูเทียม ก็เหมือนอุปกรณ์ไฟฟ้าทั่วไป คือต้องใช้กระแสไฟในการทำงานจากแบตเตอรี่ และควรดูแลบำรุงรักษาอย่างเหมาะสมเพื่อยืดอายุการใช้งาน เพราะอุปกรณ์ที่มีราคาแพง

         แม้ว่า “หูตึง” จะเป็นความพิการที่มองไม่เห็นชัดเจนจากภายนอก แต่สามารถตรวจพบได้ ตั้งแต่เด็กแรกเกิด และตั้งแต่ยังไม่มีอาการแสดงใด ๆ หากตรวจพบได้เร็ว แพทย์หู คอ จมูกและนักเวชศาสตร์สื่อความหมายสามารถให้การรักษาและฟื้นฟูการได้ยินและการพูด ให้มีพัฒนาการเหมือนหรือใกล้เคียงเด็กที่มีการได้ยินปกติได้

         ในทางทฤษฎีแล้ว เด็กแรกเกิดทุกรายควรได้รับการตรวจคัดกรองการได้ยิน แต่เนื่องจากประเทศไทยยังมีข้อจำกัดอยู่มากและยังไม่สามารถทำได้ พ่อแม่และผู้ปกครอง จึงควรสังเกตการพัฒนาการทางการได้ยินและการพูดของบุตรหลานของท่าน หากไม่แน่ใจหรือเด็กอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสหูตึง ควรปรึกษาแพทย์หู คอ จมูกหรือนักเวชศาสตร์สื่อความหมาย.

นพ.จารึก หาญประเสริฐพงษ์

ภาควิชาโสตศอนาสิกวิทยา

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


  View : 9.99K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 805
 เมื่อวาน 997
 สัปดาห์นี้ 4,978
 สัปดาห์ก่อน 7,391
 เดือนนี้ 28,913
 เดือนก่อน 57,053
 จำนวนผู้เข้าชม 878,081
  Your IP : 3.149.240.101