ออทิสติก (Autistic Disorder) 

ความหมาย           

โรคออทิสติก(Autistic Disorder) หรือ ออทิสซึม(Autism) เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะสังคม ทักษะทางภาษา และการสื่อความหมายได้เหมาะสมตามวัย มีลักษณะพฤติกรรม กิจกรรม และความสนใจ เป็นแบบแผนซ้ำๆ ไม่ยืดหยุ่น ปัญหาดังกล่าวเป็นตั้งแต่เล็ก แสดงให้เห็นก่อนอายุ 3 ขวบ เป็นโรคที่รู้จักมาเป็นเวลา 60 ปีแล้ว นักวิชาการพยายามศึกษารายละเอียดต่างๆ ของโรค แต่ยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แน่ชัดได้

            คำว่า Autism มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกว่า"Auto"ซึ่งแปลว่า "Self" หมายถึง แยกตัวอยู่ตามลำพังในโลกของตัวเอง เปรียบเสมือนมีกำแพงใส หรือกระจกเงา ที่กั้นบุคคลเหล่านี้ออกจากสังคมรอบข้าง

            โรคออทิสติกจัดอยู่ในกลุ่มการวินิจฉัยโรค ที่เรียกว่า พีดีดี หรือ ความบกพร่องของพัฒนาการแบบรอบด้าน (Pervasive Developmental Disorders; PDDs) พบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ถึงแม้ว่ายังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ก็ใช่ว่าจะทำอะไรไม่ได้เลย เนื่องจากการดูแลช่วยเหลือในปัจจุบันสามารถช่วยให้เด็กกลุ่มนี้ดีขึ้นได้มาก โดยเฉพาะถ้าได้รับการวินิจฉัย และดูแลช่วยเหลืออย่างเหมาะสมตั้งแต่อายุน้อยๆ และทำอย่างต่อเนื่อง

ทำไมถึงเป็นออทิสติก

            มีความพยายามในการศึกษาถึงสาเหตุของออทิสติก แต่ยังไม่ทราบสาเหตุของความผิดปกติที่แน่ชัดได้ ในปัจจุบันมีหลักฐานสนับสนุนชัดเจนว่าเกิดจากการทำงานของสมองที่ผิดปกติ มากกว่าเป็นผลจากสิ่งแวดล้อม

            ในอดีตเคยเชื่อว่าออทิสติก เกิดจากการเลี้ยงดูในลักษณะที่เย็นชา (Refrigerator Mother) แต่จากหลักฐานข้อมูลในปัจจุบันยืนยันได้ชัดเจนว่า รูปแบบการเลี้ยงดูไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้เป็นออทิสติก แต่ถ้าเลี้ยงดูอย่างเหมาะสมก็จะช่วยให้เด็กพัฒนาดีขึ้นได้มาก

            ในปัจจุบันพบว่ามีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยด้านพันธุกรรมสูงมาก มีความเชื่อมโยงกับโครโมโซมหลายตำแหน่ง เช่น ตำแหน่งที่ 15q 11-13, 7q และ 16p เป็นต้น คาดว่าในอนาคตอันใกล้จะมีความชัดเจนในเรื่องนี้เพิ่มขึ้น และจากการศึกษาในฝาแฝด พบว่าแฝดเหมือน ซึ่งมีรหัสพันธุกรรมเหมือนกัน มีโอกาสเป็นออทิสติกทั้งคู่สูงกว่าแฝดไม่เหมือนอย่างชัดเจน

            คลื่นไฟฟ้าสมอง พบว่ามีความผิดปกติมากกว่าในกลุ่มประชากรปกติ แต่ไม่พบลักษณะจำเพาะที่อธิบายความผิดปกติของการทำงานของสมอง ส่วนในการศึกษาเรื่องของสมองและระบบประสาท พบว่ามีความผิดปกติหลายรูปแบบ มีปริมาตรของสมองเพิ่มขึ้น ยกเว้นสมองส่วนหน้า (Frontal Lobe) และพบว่าเส้นรอบวงของศีรษะปกติในตอนแรกเกิด แล้วเริ่มมากผิดปกติในช่วงวัยเด็กตอนต้นถึงตอนกลาง และในระดับเซลล์ พบว่าเกี่ยวข้องกับจำนวน เซลล์เพอร์กินส์ (Purkinje Cell) ที่ลดลง

             ภาพฉายระบบประสาท (Neural Imaging) พบความผิดปกติหลากหลายรูปแบบ แต่ยังคลุมเครืออยู่ ไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจน เช่น Cerebellar Vermis มีความหนาแน่นผิดปกติ Third Ventricle มีขนาดใหญ่ สมองส่วน caudate มีขนาดเล็ก เป็นต้น

            ด้านเภสัชวิทยาของระบบประสาท พบว่ามีความเกี่ยวข้องกับสารเคมีสื่อประสาทที่ชื่อ เซโรโทนิน โดยมีระดับในเกล็ดเลือดสูงขึ้น แต่ยังไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจนว่าเกิดจากอะไร
 
ออทิสติกมีอาการอย่างไร

            เด็กที่เป็นออทิสติกจะมีอาการแตกต่างกันหลากหลายรูปแบบ สิบคนก็สิบแบบ ร้อยคนก็ร้อยแบบ แต่ก็มีลักษณะร่วมคล้ายกัน ที่เรียกว่า ออทิสติก คือเด็กอยู่ในโลกของตัวเองมาก สนใจสิ่งแวดล้อมน้อย เรียกไม่หัน ไม่สบตา ไม่สนใจใคร โต้ตอบไม่เป็น เล่นไม่เหมาะสม จินตนาการไม่เป็น ไม่พูดหรือพูดไม่รู้เรื่อง พูดเป็นภาษาต่างดาว ทำอะไรซ้ำๆ เป็นแบบแผน ไม่ยืดหยุ่น สนใจบางอย่างแบบหมกมุ่น ไม่มีประโยชน์ ในรายที่อยู่ในโลกของตัวเองมาก จะกระตุ้นตัวเองเป็นระยะ เช่น หมุนตัว โยกตัว เขย่งเท้า สะบัดมือ เล่นมือ เล่นเสียง เป็นต้น

            การที่จะดูว่าเด็กเป็นออทิสติกหรือไม่ ถ้าอาการมาก อาการรุนแรง จะดูออกได้ไม่ยาก แต่ถ้าอาการน้อยๆ จะดูยากมาก ต้องอาศัยความเห็นผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น และบางคนอาจต้องประเมินและติดตามระยะหนึ่ง จึงจะได้ข้อสรุปที่แน่นอน

            ในช่วงขวบปีแรกจะสังเกตได้ยาก เนื่องจากเด็กมีหน้าตาน่ารัก ไม่มีลักษณะภายนอกผิดสังเกต เด็กมักจะไม่สบตา เรียกชื่อก็ไม่สนใจหันมอง หน้าตาเฉยเมย ไม่ยิ้มตอบ หรือหัวเราะ ไม่ชอบให้อุ้ม ไม่แสดงท่าทีเรียกร้องความสนใจใดๆ ค่อนข้างเงียบ ไม่ส่งเสียง เลี้ยงง่าย

            อาการผิดปกติเริ่มสังเกตได้ชัดเจนขึ้นในช่วงขวบปีที่สอง เด็กยังไม่พูดเป็นคำ แต่จะพูดเป็นภาษาต่างดาวที่ไม่มีความหมาย ไม่สนใจของเล่น ไม่สนใจในเรื่องที่คนรอบข้างกำลังสนใจอยู่ ไม่ชี้นิ้วบอกความต้องการของตนเอง เวลาอยากได้อะไรมักจะทำเอง หรือจูงมือพ่อแม่ไปหยิบโดยไม่ส่งเสียง ชอบจ้องมองสิ่งของที่เป็นแสงวาววับ แสงไฟ เงาที่กระเพื่อมไปมา หรือของหมุนๆ เช่น พัดลม ล้อรถที่กำลังหมุน เริ่มเล่นมือ สะบัดมือ หมุนตัว โยกตัว เขย่งเท้า

            นับจากขวบปีที่สามเป็นต้นไป อาการจะชัดเจนขึ้น และรุนแรงมากขึ้น ถ้าไม่ได้นำเข้าสู่กระบวนการดูแลช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง

            ในด้านสังคม เด็กจะไม่สบตา ไม่เข้าใจสีหน้า อารมณ์ของผู้อื่น เด็กจะเล่นกับเด็กคนอื่นในวัยเดียวกันไม่เป็น แต่มักจะเล่นกับเด็กที่โตกว่าหรือผู้ใหญ่ ไม่สนใจของเล่นที่เด็กทั่วไปสนใจ แต่จะไปเล่นของที่ไม่ควรเล่น เล่นจินตนาการไม่เป็น ไม่สามารถสมมติของอย่างหนึ่งเป็นอีกอย่างหนึ่งได้ เช่น บล็อกไม้เรียงกันเป็นรถไฟ ก้อนหินเป็นขนม ไม่รู้จักแยกแยะหรือหลีกหนีจากอันตราย เช่น เห็นสุนัขที่ดุๆ เห่าเสียงดัง ก็วิ่งเข้าไปจับ

            ในด้านภาษาเด็กหลายคนเริ่มพูดได้ แต่เป็นลักษณะพูดซ้ำๆ พูดเลียนแบบโดยไม่เข้าใจความหมาย พูดเรียงประโยคไม่ถูกต้อง หรือตอบคำถามไม่เป็น ยังมีภาษาต่างดาวอยู่มาก

            ในด้านพฤติกรรม เด็กจะมีท่าทางแปลกๆ ที่เป็นลักษณะเฉพาะตัว กระโดดสะบัดมือเวลาดีใจหรือตื่นเต้น เดินเขย่งหรือซอยเท้า สนใจของบางอย่างแบบหมกมุ่นเกินความพอดี เช่น ชอบดูโลโก้สินค้า สะสมขวด ดูรูปภาพเดิมซ้ำๆ จ้องมองพัดลมหมุนได้นาน สะบัดแผ่นซีดีไปมาเพื่อดูแสงเงา ทานอาหารเมนูซ้ำเดิมไม่ยอมเปลี่ยน ใส่เสื้อตัวเดิมหรือสีเดิมตลอด ถ้ากิจวัตรที่เคยทำเปลี่ยนไปจากเดิม จะอารมณ์เสีย หงุดหงิด โวยวาย

            ถึงแม้ว่าเด็กออทิสติกจะไม่เข้าใจอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของคนอื่น จากการสังเกตสีหน้าและท่าทาง แต่ตัวเด็กเองมีอารมณ์ ความรู้สึกของเขาเอง รู้สึกโกรธ เศร้า เหงา อิจฉา ดีใจ ต้องการความรัก ความสนใจ เช่นเดียวกับเด็กทั่วไป อาการซนมาก อยู่ไม่นิ่ง วิ่งวุ่นตลอด นั่งไม่ติดที่ หรือที่เรียกว่าไฮเปอร์แอคทีฟ (Hyperactive) เป็นอาการที่พบร่วมได้ในเด็กออทิสติก ประมาณร้อยละ 70 มักพบมีความบกพร่องทางสติปัญญาร่วมด้วย ร้อยละ 50-70 แต่ในขณะเดียวกัน ก็พบว่ามีความสามารถพิเศษถึงร้อยละ 10

            ลอร์น่า วิง (Lorna Wing) แบ่งเด็กออทิสติกออกเป็น 3 กลุ่ม ตามลักษณะของพฤติกรรรม และการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ดังนี้

1. กลุ่มที่แยกตัว (Aloof)

2. กลุ่มที่นิ่งเฉย (Passive)

3. กลุ่มที่เข้าหาคน (Active but Odd)

            พบว่าการแบ่งกลุ่มดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับระดับสติปัญญากลุ่มที่แยกตัวมักมีความบกพร่องทางสติปัญญาร่วมด้วย ส่วนกลุ่มที่เข้าหาคนมักมีระดับสติปัญญาดี

 

พบออทิสติกมากขึ้นจริงไหม

            ในการศึกษาด้านระบาดวิทยา ทำค่อนข้างยากเนื่องจาก เกณฑ์ในการวินิจฉัยออทิสติกมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย จากข้อมูลทางระบาดวิทยาในช่วง 30 ปี พบว่า ความชุกของโรคพบเฉลี่ย 4.8 คนต่อประชากร 10,000 คน หรือประมาณ 1 คนต่อประชากร 2,000 คน แต่ถ้ารวมแอสเพอร์เกอร์ด้วย จะมีความชุกของโรคประมาณ 1 คนต่อประชากร 1,000 คน

            จากข้อมูลทางระบาดวิทยาในระยะหลัง พบว่ามีความชุกเพิ่มมากขึ้น พบสูงสุดถึง 1 คนต่อประชากร 250 คน (รวมกลุ่มพีดีดีทั้งหมด) ความชุกที่เพิ่มขึ้นอาจสะท้อนให้เห็นถึงอุบัติการณ์ที่เพิ่มขึ้นจริง แต่ในเบื้องต้นพบว่ามีความสัมพันธ์กับเรื่องเกณฑ์การวินิจฉัยที่กว้าง ครอบคลุมมากขึ้น และประชาชนทั่วไปมีความตระหนักในโรคออทิสติกมากขึ้น

            มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เป็นพื้นที่หนึ่งที่พบว่ามีออทิสติกสูงมาก พบเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 273 ในช่วง 12 ปี (พ.ศ.2530-2541) และยังพบมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในเขตนิคมอุตสาหกรรมซิลิคอน วัลเลย์ พบสูงสุดถึง 1 คนต่อประชากร 150 คน

            พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ประมาณ 3-4 เท่า แต่ในเพศหญิงมักจะมีอาการรุนแรงกว่า เดิมเชื่อว่าพบมากในกลุ่มคนที่มีฐานะดี แต่ในปัจจุบันพบว่ามีในทุกระดับชั้นของสังคมพอๆ กัน ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าเดิมกลุ่มคนที่มีฐานะดี จะเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขได้ดีกว่า
 
 
วินิจฉัยออทิสติกได้อย่างไร

            คู่มือการวินิจฉัยโรคทางจิตเวช ดีเอสเอ็มโฟร์ (DSM-IV, 1994) โดยสมาคมจิตแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา จัดให้ โรคออทิสติก อยู่ในกลุ่ม พีดีดี (Pervasive Developmental Disorders; PDDs) หรือ ความบกพร่องของพัฒนาการแบบรอบด้าน ซึ่งแสดงอาการอย่างชัดเจนในวัยเด็ก ก่อให้เกิดพัฒนาการทางด้านความสัมพันธ์ทางสังคม และการสื่อสาร ไม่เป็นไปตามปกติ มีพฤติกรรม ความสนใจ และกิจกรรมที่ผิดไปจากปกติ

            ความบกพร่องของพัฒนาการแบบรอบด้าน หรือ พีดีดี เทียบเคียงได้เท่ากับคำว่า ออทิสติก สเป็กตรัม (Autistic Spectrum Disorder) แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม คือ

1. ออทิสติก (Autistic Disorder)

2. เร็ทท์ (Rett's Disorder)

3. ซีดีดี (Childhood Disintegrative Disorder)

4. แอสเพอร์เกอร์ (Asperger's Disorder)

5. พีดีดี เอ็นโอเอส (Pervasive Developmental Disorder Not Otherwise Specified; PDD-NOS)

 

            สำหรับในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะเกณฑ์การวินิจฉัยโรคออทิสติกเท่านั้น ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ดังนี้

A. เข้าเกณฑ์ต่อไปนี้ 6 ข้อหรือมากกว่า จากหัวข้อ (1) (2) และ (3) โดยอย่างน้อยต้องมี 2 ข้อ จากหัวข้อ (1) และจากหัวข้อ (2) และ (3) อีกหัวข้อละ 1 ข้อ

1. มีคุณลักษณะในการเข้าสังคมที่ผิดปกติ โดยแสดงออกอย่างน้อย 2 ข้อต่อไปนี้

1.1. บกพร่องอย่างชัดเจนในการใช้ท่าทางหลายอย่าง (เช่น การสบตา การแสดงสีหน้า กิริยา หรือท่าทางประกอบการเข้าสังคม)

1.2. ไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนในระดับที่เหมาะสมกับอายุได้

1.3. ไม่แสดงความอยากเข้าร่วมสนุก ร่วมทำสิ่งที่สนใจ หรือร่วมงานให้เกิดความสำเร็จกับคนอื่นๆ (เช่น ไม่แสดงออก ไม่เสนอความเห็น หรือไม่ชี้ว่าตนสนใจอะไร)

1.4. ไม่มีอารมณ์หรือสัมพันธภาพตอบสนองกับสังคม

2. มีคุณลักษณะในการสื่อสารผิดปกติ โดยแสดงออกอย่างน้อย 1 ข้อต่อไปนี้

2.1. พัฒนาการในการพูดช้าหรือไม่มีเลย โดยไม่แสดงออกว่าอยากใช้การสื่อสารวิธีอื่นมาทดแทน เช่น แสดงท่าทาง

2.2. ในรายที่มีการพูดได้ ก็ไม่สามารถเริ่มพูดหรือสนทนาต่อเนื่องกับคนอื่นได้

2.3. ใช้คำพูดซ้ำหรือใช้ภาษาที่ไม่มีใครเข้าใจ

2.4. ไม่มีการเล่นสมมติที่หลากหลาย คิดเองตามจินตนาการ หรือเล่นเลียนแบบสิ่งต่างๆ ตามสมควรกับพัฒนาการ

 3. มีแบบแผนพฤติกรรม ความสนใจ หรือกิจกรรมที่จำกัด ใช้ซ้ำ และรักษาเป็นเช่นเดิม โดยแสดงออกอย่างน้อย 1 ข้อ ต่อไปนี้

3.1. หมกมุ่นกับพฤติกรรมซ้ำๆ ตั้งแต่ 1 อย่างขึ้นไป และความสนใจในสิ่งต่างๆ มีจำกัด ซึ่งเป็นภาวะที่ผิดปกติทั้งในแง่ของความรุนแรงหรือสิ่งที่สนใจ

3.2. ติดกับกิจวัตร หรือย้ำทำกับบางสิ่งบางอย่างที่ไม่มีประโยชน์โดยไม่ยืดหยุ่น

3.3. ทำกิริยาซ้ำๆ เช่น เล่นสะบัดมือ หมุนตัว โยกตัว

3.4. สนใจหมกมุ่นกับเพียงบางส่วนของวัตถุ

 

B. มีความล่าช้าหรือความผิดปกติก่อนอายุ 3 ปี ในด้านต่างๆ ต่อไปนี้ อย่างน้อย 1 ด้าน

(1) ปฏิสัมพันธ์กับสังคม

(2) ภาษาที่ใช้สื่อสารกับสังคม

(3) เล่นสมมติหรือเล่นตามจินตนาการ

 

C. ความผิดปกติไม่เข้ากับเร็ทท์ (Rett's Disorder) หรือ ซีดีดี (Childhood Disintegrative Disorder) ได้ดีกว่า

 

เด็กออทิสติกโตขึ้นจะเป็นอย่างไร

            พบว่าออทิสติก จำนวน 2 ใน 3 ยังมีภาวะต้องพึ่งพิงผู้อื่น และต้องการผู้ดูแลตลอดชีวิต ในขณะที่จำนวน 1 ใน 3 สามารถพึ่งพาตนเองได้พอสมควร ต้องการเพียงคำชี้แนะจากผู้ดูแลเป็นระยะเท่านั้น และพบว่ามีร้อยละ 1-2 ที่พึ่งพาตนเองได้เต็มที่ สามารถประกอบอาชีพ เลี้ยงตัวเอง ดำเนินชีวิตได้เหมือนปกติ

            สิ่งสำคัญที่เป็นตัวบ่งบอกว่า เด็กออทิสติกจะมีแนวโน้มที่ดีหรือไม่ เพียงไร คือ ระดับสติปัญญา และความสามารถในการสื่อสาร จากรายงานวิจัยพบว่า ผู้ที่มีระดับสติปัญญา (ไอคิว) ต่ำกว่า 50 มีอาการชักในช่วงวัยรุ่น หรือยังไม่พูดเมื่ออายุ 5 ปี มักจะมีแนวโน้มไม่ค่อยดีนัก

            พบว่าออทิสติก ประมาณร้อยละ 4-32 จะมีอาการชักร่วมด้วย พบได้เมื่ออายุมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่เป็นวัยรุ่น ซึ่งยิ่งทำให้มีแนวโน้มไม่ค่อยดี

            การดูแลช่วยเหลืออย่างเหมาะสม ถูกต้องตามหลักวิชาการ ถ้าเริ่มทำตั้งแต่ช่วงอายุ 3 ขวบปีแรก พบว่าได้ผลดีกว่าการรักษาที่ล่าช้ากว่านั้น ดังนั้นการวินิจฉัยโรคได้เร็ว เริ่มให้การดูแลช่วยเหลือตั้งแต่อายุน้อยๆ และทำอย่างต่อเนื่อง เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
 
 
ป้องกันไม่ให้เป็นออทิสติกได้อย่างไร

            การป้องกันไม่ให้เป็นออทิสติก ในปัจจุบันยังไม่ให้สามารถทำได้ เนื่องจากยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้ และยังไม่มีวิธีการที่สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ตั้งครรภ์ แต่สามารถป้องกันไม่ให้มีอาการรุนแรงขึ้นได้ โดยการคัดกรองให้รู้ปัญหาเร็วที่สุด และเข้าโปรแกรมการดูแลช่วยเหลือตั้งแต่เล็กและทำอย่างต่อเนื่อง

            กุญแจสำคัญ ที่เป็นตัวทำนายออทิสติก ในเด็กอายุ 18 เดือนขึ้นไป มี 4 อาการหลัก ถ้าพบว่ามีอาการผิดปกติเหล่านี้ตั้งแต่ 2 อย่างขึ้นไป ควรนึกถึงออทิสติก และมีการดำเนินการเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค และให้ความช่วยเหลืออย่างทันที อาการดังกล่าว คือ

1. เล่นสมมติ เล่นจินตนาการไม่เป็น
2. ไม่สามารถชี้นิ้วบอกความต้องการได้
3. ไม่สนใจเข้ากลุ่ม หรือเล่นกับเด็กคนอื่น
4. ไม่มีพฤติกรรมที่แสดงออกถึงความสนใจร่วมกับคนอื่นได้

            นอกจากนี้ยังมีการนำแบบคัดกรองมาใช้ เพื่อนำเด็กเข้าสู่การดูแลช่วยเหลือเร็วที่สุด ได้แก่ แบบสำรวจพัฒนาการเด็ก PDDSQ (Pervasive Developmental Disorders Screening Questionnaire), CHAT (Checklist for Autism in Toddlers), CARS (Childhood Autism Rating Scale)

 

เด็กออทิสติกเป็นอัจฉริยะด้วยหรือไม่

            เมื่อประมาณ 15 ปีก่อน ภาพยนตร์เรื่อง เรนแมน (Rain Man) ถ่ายทอดเรื่องราวของบุคคลออทิสติกที่มีความเป็นอัจฉริยะให้โลกได้รู้จัก โดยสร้างจากข้อมูลจริงของบุคคลออทิสติกที่มีความเป็นอัจฉริยะหลายๆ คนมารวมกันเป็นคนเดียว ทำให้หลายๆ คน ติดภาพความเป็นอัจฉริยะของออทิสติก ซึ่งไม่ได้มีทุกคน แต่ก็พบว่ามีเกือบร้อยละ 10 ที่มีความเป็นอัจฉริยะอยู่ในตัว อาจเป็นอัจฉริยะเฉพาะด้าน หรือหลายๆ ด้านพร้อมกัน บางคนแสดงออกมาให้เห็นชัดเจนตั้งแต่เด็ก แต่บางคนก็รอจังหวะเวลา และโอกาสในการแสดงออก

            แต่เมื่อถูกระบุว่าเป็นออทิสติกแล้ว บางครั้งความเป็นอัจฉริยะ จะถูกมองข้ามไป ไม่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ เนื่องจากเราไปให้ความสำคัญกับความผิดปกติมากกว่าความเป็นอัจฉริยะ ไปมุ่งเน้นการแก้ไขความผิดปกติ จนลืมส่งเสริมความเป็นอัจฉริยะ

            แนวทางดูแลช่วยเหลือที่ถูกต้อง คือการส่งเสริมความสามารถที่มีอยู่ ควบคู่ไปกับการแก้ไขความบกพร่อง จึงจะสามารถดึงศักยภาพที่มีอยู่ในตัวเด็กมาใช้ได้เต็มที่

            เมื่อเด็กออทิสติกได้รับการแก้ไขความบกพร่อง สิ่งหนึ่งที่มักจะถูกแนะนำให้แก้ไขด้วย คือการลดความหมกมุ่นในกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งที่มากเกินไป ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามแนวทางการรักษาในปัจจุบัน แต่ในบางครั้ง ความหมกมุ่นในบางเรื่อง นำมาซึ่งความรู้จริง ความรอบรู้ในเรื่องนั้นๆ ได้เช่นกัน ดังนั้นแนวทางการแก้ไขความหมกมุ่น อาจไม่ใช่การห้าม งดทำ หรือเบี่ยงเบนเท่านั้น แต่ควรเน้นการขยายขอบเขตความสนใจในเรื่องเดิมให้กว้างขึ้น ให้มีมิติ มุมมองใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ก็สามารถลดความหมกมุ่น โดยไม่ปิดกั้นความสนใจได้เช่นกัน
 
 
10 แนวทางดูแลช่วยเหลือเด็กออทิสติก

1) ส่งเสริมพลังครอบครัว (Family Empowerment)

            ครอบครัวมีบทบาทสำคัญที่สุดในกระบวนการดูแลช่วยเหลือเด็กออทิสติก ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของทุกคน พลังครอบครัว คือ พลังแห่งความสำเร็จ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับออทิสติก เป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้ และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้ เพราะจะช่วยให้การดูแลช่วยเหลือเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง ผู้ปกครองทุกคนเริ่มต้นที่ไม่รู้เหมือนกัน แต่ปลายทางแห่งความสำเร็จต่างกันตามการเรียนรู้ของแต่ละคน ทักษะต่างๆ จะสั่งสมตามประสบการณ์ในการดูแลช่วยเหลือที่ได้ลงมือทำไป ไม่ต้องกังวลว่าจะทำไม่ได้หรือทำได้ไม่ดี แต่ควรเริ่มต้นลงมือฝึกเด็กก่อนแล้วค่อยๆ พัฒนาวิธีการตามคำชี้แนะจากผู้เชี่ยวชาญ

 

2) ส่งเสริมความสามารถเด็ก (Ability Enhancement)

            ถ้ามุ่งแก้ไขความบกพร่องเพียงด้านเดียว ก็จะยิ่งทำให้หมดพลังใจเร็ว เนื่องจากมองเห็นแต่ปัญหา แต่ถ้ามุ่งส่งเสริมความสามารถควบคู่ไปด้วย จะช่วยให้มีกำลังใจ เนื่องจากมองเห็นการเปลี่ยนแปลง ความสามารถในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นความสามารถพิเศษเสมอไป แต่คือสิ่งที่เด็กสามารถทำได้ เช่น ส่งเสียงอะไรได้บ้าง พูดคำว่าอะไรได้บ้าง เล่นอะไรเป็นบ้าง ดูแลช่วยเหลือตัวเองในเรื่องอะไรได้บ้าง แล้วขยายความสามารถที่ทำได้เหล่านี้ให้ดียิ่งขึ้น โดยเปิดโอกาสให้เด็กได้ทำบ่อยๆ แล้วสอนเพิ่มในเรื่องที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่เด็กทำได้ ก็จะยิ่งทำให้เรียนรู้ได้ง่ายขึ้น และขยายขอบเขตความสามารถเพิ่มขึ้น การเสริมสร้างโอกาสให้เด็กได้เล่นของเล่นที่หลากหลาย ได้ทำกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น ดนตรี กีฬา งานศิลปะต่างๆ ช่วยงานที่พ่อแม่ทำ ก็จะช่วยให้เด็กมีโอกาสแสดงความสามารถให้เห็นเพิ่มขึ้น

 

3) ส่งเสริมพัฒนาการ (Early Intervention)

            การส่งเสริมพัฒนาการ คือการจัดกิจกรรมเพื่อใช้ในการส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการเป็นไปตามวัย โดยยึดหลักและลำดับขั้นพัฒนาการของเด็กปกติ ควรทำตั้งแต่อายุน้อย โดยต้องทำอย่างเข้มข้น สม่ำเสมอ และต่อเนื่องในระยะเวลาที่นานพอ การออกแบบการฝึกต้องให้เหมาะสมตามสภาพปัญหา ความสามารถ และความเร็วในการเรียนรู้ของแต่ละคนที่มีความแตกต่างกัน ทักษะพื้นฐานในการเรียนรู้ที่ควรเริ่มฝึกเป็นอันดับแรก เพื่อดึงเด็กออกจากโลกส่วนตัวของเขาเองมาเรียนรู้โลกภายนอก ควรเน้นในเรื่องการมองหน้าสบตา การมีสมาธิ การฟัง และทำตามคำสั่ง การฝึกทักษะเหล่านี้ในระยะเริ่มต้นจะใช้เวลานาน และเห็นการเปลี่ยนแปลงช้า ทำให้เกิดความเครียดทั้งกับผู้ปกครองและตัวเด็กเอง แต่เมื่อเด็กมีทักษะพื้นฐานเหล่านี้ดีแล้วการต่อยอดในทักษะที่ยากขึ้นก็จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

 

4) พฤติกรรมบำบัด (Behavior Therapy)

            โปรแกรมพฤติกรรมบำบัดประกอบด้วย การวิเคราะห์พฤติกรรมแบบประยุกต์ (Applied Behavior Analysis - ABA) และกระบวนการฝึกปรับพฤติกรรม (Behavioral Modification Procedure) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ส่งเสริมพฤติกรรมที่เหมาะสมให้คงอยู่ต่อเนื่อง หยุดพฤติกรรมที่เป็นปัญหา และสร้างพฤติกรรมใหม่ที่ต้องการ nการทำพฤติกรรมบำบัด ตั้งแต่อายุน้อยๆ และทำอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าจะใช้โปรแกรมใดก็ตาม พบว่าช่วยเสริมสร้างทักษะด้านภาษา ด้านสังคม และทักษะอื่นๆ นอกจากนี้ยังช่วยลดระดับความเครียดของผู้ปกครองด้วย เทคนิคที่ใช้มีพื้นฐานมาจากหลักการของทฤษฎีการเรียนรู้ เทคนิคที่ใช้ได้ผลดีคือ การให้แรงเสริม เมื่อมีพฤติกรรมที่ต้องการ แรงเสริมมีทั้งสิ่งที่จับต้องได้ เช่น ขนม ของเล่น สติกเกอร์ และสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น คำชมเชย ตบมือ ยิ้มให้ กอด เป็นต้น

 

5) การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ (Medical Rehabilitation)

            การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ ประกอบด้วย การแก้ไขการพูด กิจกรรมบำบัด หรือกายภาพบำบัด (ในรายที่มีปัญหาด้านกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหวร่วมด้วย)

การแก้ไขการพูด (Speech Therapy)

            ถ้าเด็กพูดได้เร็ว โอกาสที่จะมีพัฒนาการทางภาษาใกล้เคียงปกติก็จะเพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกัน การใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสมก็ลดลงด้วย ดังนั้นการแก้ไขการพูด จึงมีความสำคัญ ผู้เชี่ยวชาญที่แก้ไขการพูด คือ นักแก้ไขการพูด (Speech Therapist/ Speech Pathologist) แต่ผู้ที่มีบทบาทสำคัญไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ แต่คือผู้ปกครองซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับเด็ก ดังนั้นไม่ใช่การรอจนถึงวันนัดแล้วค่อยฝึกเท่านั้น เพราะจะไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร ผู้ปกครองสามารถกระตุ้นให้มีการพูดได้โดยผ่านการเล่นได้เช่นกัน พยายามสร้างสถานการณ์ ที่กระตุ้นให้เกิดการสื่อสารขึ้น เช่น เวลาเล่นต่อจิ๊กซอว์ ก็อาจเอาไปซ่อนชิ้นหนึ่งเพื่อให้เด็กถามหา หรือ อาจเอารองเท้าของคนอื่นมาให้เด็กใส่ เพื่อให้เด็กบอกว่า ไม่ใช่ หรือถามหารองเท้าของตนเอง เป็นต้น นอกจากนี้ควรนำเทคนิควิธีการฝึก ซึ่งได้รับการแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ มาปฏิบัติอย่างต่อเนื่องที่บ้าน

            การพูดเป็นวิธีการสื่อความหมายที่สำคัญที่สุด แต่ถ้ายังไม่สามารถพูดได้ ก็จำเป็นต้องหาวิธีการอื่นมาทดแทน เพื่อให้สามารถบอกความต้องการของตนเองได้ ซึ่งเรียกวิธีการเหล่านี้ว่า การสื่อความหมายทดแทน (Augmentative and Alternative Communication; AAC) เพื่อใช้ทดแทนการพูดเป็นการชั่วคราว หรือโดยถาวรในรายที่มีความบกพร่องทางการพูดอย่างรุนแรง ตัวอย่างเช่น กลวิธีการรับรู้ผ่านการมอง (Visual Strategies) โปรแกรมแลกเปลี่ยนภาพเพื่อการสื่อสาร (Picture Exchange Communication System; PECS) เครื่องโอภา (Communication Devices) และโปรแกรมปราศรัย เป็นต้น

กิจกรรมบำบัด (Occupational Therapy)

            เป็นการประยุกต์กิจวัตร หรือกิจกรรม มาใช้ในการตรวจประเมิน วินิจฉัย ส่งเสริม บำบัดรักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพ ให้สามารถกลับไปดำรงชีวิตในสังคมได้ ช่วยเสริมสร้างสมาธิ ทักษะการคิด พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก และการทำงานประสานกันของกล้ามเนื้อ ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ โดยนักกิจกรรมบำบัด (Occupational Therapist) จะเป็นผู้ที่ประยุกต์ใช้กิจกรรมต่างๆ มาช่วยในการบำบัดเด็ก ตามสภาพปัญหาของแต่ละคน

 

6) การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการศึกษา (Educational Rehabilitation)

            การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการศึกษา มีบทบาทสำคัญในการเพิ่มทักษะพื้นฐานด้านสังคม การสื่อสาร และทักษะทางความคิด ซึ่งทำให้เกิดผลดีในระยะยาว โดยเนื้อหาหลักสูตรจะเน้นการเตรียมความพร้อม เพื่อให้เด็กสามารถใช้ในชีวิตประจำวันจริงๆ ได้ แทนการฝึกแต่เพียงทักษะทางวิชาการเท่านั้น

            แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (Individualized Education Program; IEP) จำเป็นต้องออกแบบให้เหมาะสมกับความสามารถ ความบกพร่อง และความสนใจของเด็กแต่ละคน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ง่าย ไม่สับสน เด็กสามารถนำทักษะที่ได้จากชั้นเรียนไปใช้นอกห้องเรียน

            ปัจจุบันมีทางเลือกในการศึกษาเพิ่มขึ้น ทั้งในรูปแบบโรงเรียนการศึกษาพิเศษเฉพาะทาง โรงเรียนเรียนร่วม ห้องเรียนคู่ขนาน ห้องเรียนปกติ รวมถึงการศึกษานอกโรงเรียน และการศึกษาตามอัธยาศัย

 

7) การฟื้นฟูสมรรถภาพทางสังคม (Social Rehabilitation)

            การฟื้นฟูสมรรถภาพทางสังคม ประกอบด้วยการฝึกฝนทักษะในชีวิตประจำวัน และการฝึกฝนทักษะสังคม เพื่อให้บุคคลออทิสติกสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้ตามปกติ

การฝึกฝนทักษะในชีวิตประจำวัน (Activity of Daily Living Training)

            ควรมีการจัดกระบวนการเรียนรู้ในเรื่องกิจวัตรประจำวัน ให้เด็กสามารถทำได้ด้วยตนเองเต็มความสามารถที่เขามีอยู่ โดยต้องการความช่วยเหลือน้อยที่สุด ในการฝึกฝน เด็กจำเป็นต้องเรียนรู้จนสามารถปฏิบัติได้ และเกิดเป็นความเคยชิน ติดตัวไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ เพื่อให้เด็กช่วยเหลือตัวเองได้ตามศักยภาพ ลดการดูแลของพ่อแม่หรือผู้ปกครอง และเกิดความภาคภูมิใจ เมื่อเขาสามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเอง

การฝึกฝนทักษะสังคม (Social Skill Training)

            ทักษะสังคม เป็นความบกพร่องที่สำคัญของเด็กออทิสติก ดังนั้นจึงต้องให้การฝึกฝนด้านนี้เป็นพิเศษ ซึ่งทำได้โดยจำลองเหตุการณ์ หรือสถานการณ์ทางสังคมต่างๆ เพื่อให้ทดลองปฏิบัติจนเกิดความชำนาญ หรือการสอนโดยให้จดจำรูปแบบบทสนทนาในสถานการณ์ต่างๆ เพื่อนำมาใช้โดยตรง

            การสอนเรื่องราวทางสังคม (Social Story) ซึ่งมี แครอล เกรย์ (Carol Gray) เป็นต้นตำรับ จะกำหนดเรื่องราว หรือสถานการณ์ต่างๆ ในสังคม มาสอนเด็ก โดยเน้นในเรื่อง ลักษณะทางสังคมที่สำคัญ ปฏิกิริยาโต้ตอบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากเด็กทั่วไป และจากเด็กออทิสติก รวมถึงเหตุผลที่แสดงปฏิกิริยาโต้ตอบเช่นนั้น เพื่อช่วยให้เด็กออทิสติกสามารถเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม เข้าใจอารมณ์ ความรู้สึกของผู้อื่น และวิธีปฎิบัติตนที่เหมาะสมในสถานการณ์นั้นๆ สามารถปรับตัวเข้าสังคมได้ โดยลดพฤติกรรมที่เป็นปัญหาลง

 

8) การฟื้นฟูสมรรถภาพทางอาชีพ (Vocational Rehabilitation)

            แนวคิดการฟื้นฟูสมรรถภาพทางอาชีพ ในปัจจุบันเปลี่ยนจากการให้ทำงานในสถานพยาบาล หรือโรงงานในอารักษ์ มาสู่ตลาดแรงงานจริง หรือการประกอบอาชีพส่วนตัว ภายใต้การชี้แนะ การฝึกอาชีพ การจัดหางาน และการสนับสนุนอย่างเป็นระบบ เพื่อไปสู่เป้าหมายให้บุคคลออทิสติกสามารถทำงาน มีรายได้ และดำรงชีวิตโดยอิสระ พึ่งพาผู้อื่นน้อยที่สุด จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมทักษะที่จำเป็นในการทำงาน เช่น การตรงต่อเวลา การปรับตัวเข้ากับหัวหน้างาน และเพื่อนร่วมงาน ความปลอดภัยในการทำงาน เป็นต้น และฝึกทักษะพื้นฐานเฉพาะทางอาชีพ ควบคู่กันไป

            บุคคลออทิสติกสามารถประกอบอาชีพได้ปกติ ตามความถนัดของแต่ละคน ถ้ามีการเตรียมความพร้อมอย่างเหมาะสม และสังคมมีความเข้าใจ เปิดโอกาสให้

 

9) การรักษาด้วยยา (Pharmacotherapy)

            การรักษาด้วยยาไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อรักษาให้หายขาดจากออทิสติกโดยตรง แต่นำมาใช้เพื่อบรรเทาอาการบางอย่างที่เกิดร่วมด้วย เด็กไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยยาทุกคน และเมื่อทานยาแล้วก็ไม่จำเป็นต้องทานต่อเนื่องไปตลอดชีวิตเช่นกัน แพทย์จะพิจารณาปรับขนาดยา หรือหยุดยา เมื่ออาการเป้าหมายทุเลาลงแล้ว

            ในปัจจุบันยังไม่พบว่ามียาตัวใดที่ช่วยแก้ไขความบกพร่องด้านการสื่อสารและด้านสังคม ซึ่งเป็นปัญหาหลักของเด็กออทิสติกได้ ส่วนยาที่นำมาใช้พบว่ามีประโยชน์ในการลดพฤติกรรมอยู่ไม่นิ่ง ไม่มีสมาธิ หุนหันพลันแล่น ก้าวร้าว และหมกมุ่น

 

10) การบำบัดทางเลือก (Alternative Therapy)

            นอกจากแนวทางหลักที่ใช้ในการบำบัดรักษาข้างต้นแล้ว ในปัจจุบันยังมีแนวทางการบำบัดทางเลือกที่หลากหลาย สามารถเลือกใช้ควบคู่กับแนวทางหลัก ตามความเหมาะสมกับสภาพปัญหา และผลการตอบสนองที่ได้รับของเด็กแต่ละคน

            สิ่งสำคัญที่ควรทำความเข้าใจคือ การบำบัดทางเลือกใช้เสริมแนวทางหลักให้มีประสิทธิผลเพิ่มขึ้น ไม่ใช่การนำมาใช้โดดๆ เพียงอย่างเดียวแล้วได้ผล การบำบัดทางเลือกดังกล่าวประกอบด้วย

1. การสื่อความหมายทดแทน (Augmentative and Alternative Communication; AAC)

2. ศิลปกรรมบำบัด (Art Therapy)

3. ดนตรีบำบัด (Music Therapy)

4. เครื่องเอชอีจี (HEG; Hemoencephalogram)

5. การฝังเข็ม (Acupuncture)

6. การบำบัดด้วยสัตว์ (Animal Therapy)

7. การบำบัดด้วยหุ่นยนต์ (Robot Therapy)
 
 
การทำใจให้ยอมรับเมื่อลูกเป็นเด็ก Autistic

1. เปลี่ยนทัศนคติและความคิด โดยคิดในทางที่ดีว่า ลูกต้องพัฒนาได้

2. ยอมรับในความเป็น ลูก และ สิ่งที่ลูกเป็น หมั่นบอกตนเองว่า เรารักลูกของเรา ไม่ว่าเขาจะเป็นอย่างไร

3. หมั่นบอกกับตนเองว่า ถ้าเราไม่รัก และเข้าใจลูกของเรา แล้วใครจะรักและเข้าใจ

4. หมั่นบอกกับตนเองว่า หยุดไม่ได้ ต้องพัฒนาลูกให้ช่วยตนเองให้ได้มากที่สุด

5. พยายามดูแลจิตใจและร่างกายของตนเองให้เข้มแข็ง และมองโลกในแง่ดีพร้องเผชิญปัญหา และเป็นหลักให้ลูกของเรา

6. ตั้งสติ ไม่ท้อแท้ ตั้งใจให้แน่วแน่ว่าลูกต้องพัฒนาดีขึ้นได้

7.ไม่กล่าวโทษตนเองหรือคู่สมรสว่า เป็นสาเหตุทำให้ลูกมีปัญหา ไม่หมกมุ่นคิดถึงสาเหตุในอดีต การมีลูก Autistic ไม่ใช่ความผิดของใคร

8. ควรหันหน้า ปรึกษากันในครอบครัว ถึงวิธีการดูแล เลี้ยงดู ฝึกอบรมลูก

 

คู่สมรสทำใจยอมรับไม่ได้ เมื่อลูกเป็นเด็ก Autistic

1. คิดในทางที่ดีว่า คู่สมรสพยายามปรับจิตให้ยอมรับลูก ควรให้เวลากับคู่สมรสในการปรับจิตใจ

2. พยายามให้คู่สมรสที่ส่วนร่วมในการดูแลและช่วยเหลือลูก

3. ควรเข้าใจว่า ที่ตัวเราและคู่สมรสมีความแตกต่างกัน มาจากครอบครัวและการเลี้ยงดูที่แตกต่างกัน การเข้าใจยอมรับและเผชิญกับปัญหาต่างๆ จึงแตกต่างกัน

4. ควรเข้าใจว่า ทั้งตัวเราและคู่สมรสต่างมีความเสียใจ น้อยใจ ท้อแท้ ฉุนเฉียวง่าย ควรดูแลสุขภาพจิตใจซึ่งกันและกัน บอกความรู้สึกนึกคิดของตนเองให้อีกฝ่ายทราบและช่วยกันแก้ไขปัญหา

5. หาโอกาสให้คู่สมรสได้พูดคุยกับนักวิชาชีพหรือครอบครัวอื่นที่มีลูก Autistic

 

บทบาทของพ่อแม่ในการส่งเสริมให้พี่น้องมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน

1. อธิบายให้พี่หรือน้องเข้าใจว่า พี่หรือน้องของเขาป่วยเป็นอะไร ซึ่งบิดามารดาต้องใช้เวลาและความอดทนในการอธิบาย และให้เด็กได้มีโอกาสร่วมกันกับบิดามารดา ในการพาพี่หรือน้อง Autistic ไปพบแพทย์

2. พยายามอย่าให้บุตร Autistic เข้าไปแทรกแซงการเล่นหรือการทำงานของพี่น้องมากเกินไป และไม่ควรให้พี่หรือน้องที่ปกติยอมหรือให้อภัยเด็ก Autistic มากเกินไป

3. ควรสอนเด็ก Autistic ไม่ให้ไปรื้อค้นของส่วนตัวของพี่หรือน้องที่ปกติเสียหาย

4. ไม่ควรให้พี่น้องที่ปกติรับภาระในการดูแลเด็ก Autistic มากเกินไป และไม่ควรทำโทษพี่หรือน้องในการไม่ช่วยดูแลพี่หรือน้องที่เป็น Autistic

 

พี่น้องกับเด็ก Autistic

            การมีเด็ก Autistic ในครอบครัว ย่อมมีผลกระทบต่อที่น้องของเด็กไม่มากก็น้อย เพราะเด็ก Autistic จะมีปัญหาพฤติกรรม ซึ่งรบกวนกิจวัตรประจำวันของพี่น้องคนอื่นๆ เช่น การกรีดร้องเมื่อไม่ได้ดังใจหรือต่อต้าน การซน รื้อค้น ทำลาย เล่นของส่วนตัวของพี่น้องให้เสียหาย

            พี่น้องของเด็ก Autistic บางคนรู้สึกน้อยใจที่บิดามารดาเอาใจใส่เด็ก Autistic มากกว่าตน บางคนรู้สึกอายที่จะไปในที่ต่างๆ กับพี่หรือน้องที่เป็น Autistic หรือไม่กล้าให้เพื่อนรู้ว่ามีพี่หรือน้องที่เป็น Autistic

            ในเด็กที่มีพี่หรือน้องเป็น Autistic จะไม่เข้าใจว่าพฤติกรรมบางอย่างตนทำไม่ได้ แต่ทำไมพี่ที่โตแล้วทำได้ และเป็นสาเหตุให้เกิดปฏิกิริยาทางลบหรือต่อต้านบิดามารดา บางคนอิจฉาพี่หรือน้องที่เป็น Autistic เพราะได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ หรือเขาต้องรับผิดชอบพี่หรือน้องที่เป็น Autistic มากเกินไป

 

เมื่อมีความเครียดจากการดูแลลูก Autistic จะทำอย่างไร

            การเลี้ยงดูลูก Autistic อาจทำให้บิดามารดาเหนื่อย เบื่อ ท้อแท้ เครียด ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาทางอารมณ์ จิตใจ มีความอดทนต่อสิ่งที่มีกระทบได้น้อย ทำให้เกิดผลเสียต่อการดูแลลูก Autistic บิดามารดจึงควรผ่อนคลายความเครียดโดย

1. ออกกำลังกายหรือไปหาญาติหรือเพื่อนสนิทเพื่อพูดคุย

2. พูดคุยปรึกษาปัญหากับพ่อแม่ที่มีลูก Autistic

3. หาเวลาทำกิจกรรมที่ตนเองชอบ ดูหนัง ฟังเพลง

4. หาที่สงบนิ่ง ผ่อนคลาย กำหนดลมหายใจเข้า-ออกให้ลึกๆ ทำสมาธิ

5. ร่วมกิจกรรมในชุมชน

6.หาผู้อื่นมาดูแลแทนชั่วระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้มีเวลาผ่อนคลาย/พักผ่อน

7. ขอรับบริการ/ความช่วยเหลือจากญาติ เพื่อน องค์กรของรัฐ/เอกชน

8.หากปฏิบัติทุกข้อแล้วไม่ได้ผลยังมีอาการ เหนื่อย ท้อแท้ หดหู่ หายใจไม่อิ่ม นอนไม่หลับควรปรึกษาจิตแพทย์ หรือนักวิชาชีพ เพื่อให้ความช่วยเหลือต่อไป
 
 
บรรณานุกรม

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. การเล่นเพื่อการเรียนรู้ ในเด็กออทิสติก. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2549.

 

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. คู่มืออทิสติก สำหรับผู้ปกครอง. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2548.

 

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. ออทิสติก กับความสามารถพิเศษ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2548.

 

เพ็ญแข ลิ่มศิลา. การวินิจฉัยโรคออทิซึม. สมุทรปราการ: ช.แสงงามการพิมพ์, 2545.

 

อุมาพร ตรังคสมบัติ. ช่วยลูกออทิสติก. กรุงเทพฯ: ซันต้าการพิมพ์, 2545.

 

American Psychiatric Association. Diagnostic and statistical manual of mental disorders 4th- edition (DSM-    IV). Washington, DC: American Psychiatric Association, 1994: 63-65

 

Fombonne E. Epidemiology of autism and related conditions. In: Autism and pervasive developmental

disorders, Volkmar FR, ed. Cambridge, England: Cambridge University Press, 1998: pp.33-63

 

Marcus LM, Kunce LJ, Schopler E. Working with families. In: Handbook of autism and pervasive

developmental disorders, 2nd ed, Cohen DJ, Volkmar FR, eds. New York: Wiley, 1997: pp.631-649

 

Rogers SJ. Brief report: early intervention in autism. J Autism Dev Disord, 1996, 26: 243-246

 

Rutter M, Bailey A, Simonoff E, Pickles A. Genetic influences in autism. In: Handbook of autism and

pervasive developmental disorders, 2nded, Cohen DJ, Volkmar FR, eds. New York: Wiley, 1997: pp.370-387

 

Tanguay RE. Pervasive developmental disorders : a 10-year review. J Am Acad Child Adolese Psychiatry, 2000, 39: 1079-1095

 

Volkmar FR. Autism and the pervasive developmental disorders. In: Child and adolescent psychiatry: a comprehensive textbook, 3nded, Lewis M, ed. Baltimore: William & Wilkins, 2002: pp.587-597

 

Volkmar FR, Klin A. Pervasive developmental disorders. In: Comprehensive textbook of psychiatry volume II, 7thed, Sadock BJ, Sadock VA, eds. Baltimore: William& Wilkins, 2000: pp.2659-2678
 
 
คณะผู้จัดทำ

นายทวีศักดิ์         สิริรัตน์เรขา         นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ

นางพนิดา           รัตนไพโรจน์        พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ

นางจารุวรรณ       ประดา                พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ

นางสาวศิโรรัตน์    นาคทองแก้ว      นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการพิเศษ

นางสาวจันทนี      มุ่งเขตกลาง         นักจิตวิทยาคลินิกปฏิบัติการ
 
 

  View : 332.13K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 1,081
 เมื่อวาน 1,986
 สัปดาห์นี้ 5,052
 สัปดาห์ก่อน 13,224
 เดือนนี้ 24,459
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 817,110
  Your IP : 182.232.2.50