โรคสมาธิสั้น (ADHD , Attention Deficit Hyperactivity Disorder)

  • โรคสมาธิสั้น เป็นปัญหาทางพฤติกรรมที่พบได้บ่อยในเด็กวัยเรียนและเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้เด็กมีปัญหาการเรียน เกิดจากความบกพร่องในการทำหน้าที่ของสมอง มีอาการหลักเป็นความผิดปกติทางด้านพฤติกรรมได้แก่ ขาดสมาธิ  ซนอยู่ไม่นิ่ง หุนหันพลันแล่น ขาดการยับยั้งชั่งใจ ที่เป็นมากกว่าพฤติกรรมตามปกติของ เด็กในระดับพัฒนาการเดียวกัน

สาเหตุของสมาธิสั้น

เชื่อว่าโรคสมาธิสั้นมีสาเหตุจากหลายปัจจัยทั้งปัจจัยชีวภาพและปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการและการทำงานของสมองตั้งแต่ขณะอยู่ในครรภ์ ขณะคลอด และหลังคลอดที่อาจแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน โดยมีสาเหตุจากปัจจัยทางพันธุกรรมเป็นสาเหตุหลัก ส่วนปัจจัยอื่นเช่น ภาวะขาดออกซิเจน การคลอดก่อนกำหนด ภาวะแทรกซ้อนอื่นของการตั้งครรภ์และการคลอด  มารดาดื่มสุรา/สูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์ การได้รับสารพิษ เช่นภาวะพิษจากสารตะกั่ว นอกจากนี้ในปัจจุบันเริ่มมีข้อมูลเชื่อมโยงการเกิดโรคสมาธิสั้นกับการสัมผัสสาร organophosphate ส่วนปัจจัยด้านการเลี้ยงดู เช่น การเลี้ยงดูที่ขาดระเบียบ หรือการปล่อยให้เด็กดูโทรทัศน์มากเกินไป ไม่ได้เป็นสาเหตุของโรคสมาธิสั้น   แต่อาจมีส่วนทำให้อาการของโรคสมาธิสั้นเป็นมากขึ้นได้

       

วิธีสังเกตอาการของโรคสมาธิสั้น

  • ซน อยู่ไม่นิ่ง เด็กจะมีอาการซน ยุกยิก นั่งนิ่งไม่ค่อยได้ เคลื่อนไหวตลอดเวลา เล่นโลดโผน
  • ขาดสมาธิ เด็กไม่สามารถจดจ่ออยู่กับการเรียน ไม่สามารถตั้งใจฟังครูสอนได้อย่างต่อเนื่อง มีอาการเหม่อลอย วอกแวกง่าย ทำงานไม่เสร็จ เบื่อง่าย ผลงานที่ออกมาไม่เรียบร้อย ซึ่งเป็นสาเหตุให้เด็กเรียนรู้ไม่เต็มศักยภาพ หลงลืมกิจวัตรที่ควรทำเป็นประจำ หรือทำของหายบ่อย
  • ขาดการยับยั้งใจตนเอง หุนหันพลันแล่น ขาดการยั้งคิด  ทำโดยไม่ไตร่ตรองถึงผลกระทบที่ตามมา อดทนรอคอยไม่ค่อยได้ ไม่สามารถควบคุมตนเองให้ทำในสิ่งที่ควรทำให้จนเสร็จ

วิธีการตรวจโรคสมาธิสั้น

การวินิจฉัยโรคสมาธิสั้นเป็นการวินิจฉัยทางคลินิกโดยแพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย สังเกตพฤติกรรมเด็ก และประเมินด้วยแบบประเมินพฤติกรรมเด็ก ตรวจทางจิตวิทยา (ตรวจเชาวน์ปัญญา และตรวจวัดความสามารถทางด้านการเรียน) นอกจากนี้แพทย์จะต้องวินิจฉัยแยกโรคจากภาวะอื่นๆที่อาจทำให้เด็กมีอาการคล้ายกันได้แก่ พฤติกรรมซนปกติตามวัย ปัญหาจากการเลี้ยงดูที่ขาดการฝึกระเบียบวินัย ปัญหาเกี่ยวกับสายตาหรือการได้ยิน โรคทางกายบางอย่างเช่นพิษจากสารตะกั่ว ลมชัก หรือธัยรอยด์เป็นพิษ ผลข้างเคียงจากยา เช่น phenobarbital  โรคทางจิตเวชอื่นๆ เช่น   ภาวะสติปัญญาบกพร่อง (Intellectual disability) บกพร่องทางการเรียนรู้(Learning Disorder) ออทิสติก (autistic disorder)    ดื้อ ต่อต้าน (oppositional defiant disorder) โรคเกเร (conduct disorder)  ภาวะการปรับตัวผิดปกติ (adjustment disorder) โรควิตกกังวล (anxiety disorder) และ ปัญหาทางอารมณ์ (mood   disorder)

 

วิธีการรักษาและช่วยเหลือเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น

การรักษาโรคสมาธิสั้นต้องอาศัยการรักษาแบบผสมผสานทั้งการปรับพฤติกรรมและการใช้ยา ร่วมกัน(multimodal management) และต้องอาศัยความร่วมมือกันจากหลายฝ่าย ทั้ง พ่อแม่ ครู หมอ โดยประกอบด้วยการให้ความรู้และคำแนะนำวิธีการช่วยเหลือแก่ผู้ปกครองและผู้ป่วย การประสานงานกับครูเพื่อให้มีการช่วยเหลือที่โรงเรียน การใช้ยา และการรักษาภาวะที่พบร่วมรวมทั้งแก้ไขผลกระทบของโรคสมาธิสั้นที่เกิดขึ้น

  • การรักษาด้วยยาโดยแพทย์ จะทำให้เด็กมีสมาธิดีขึ้น ซนน้อยลง ดูสงบลง การรักษาด้วยยาจะไม่ทำให้เด็กติดและไม่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตเนื่องจากอยู่ในความดูแลของแพทย์ แต่ผู้ปกครองต้องพาเด็กพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ และรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

** คำพูดแนะนำเมื่อเด็กไม่ยอมรับประทานยา

“หนูจำเป็นต้องกินยาตัวนี้ เพราะยาช่วยให้หนูควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น น่ารักมาก”

หรือ “เวลาหนูกินยาแล้วแม่สังเกตว่าหนูเรียนดีขึ้น มีความรับผิดชอบทำการบ้าน ดีกว่าแต่ก่อนเยอะเลย”

  • การช่วยเหลือด้านจิตใจ แพทย์จะให้คำแนะนำและข้อมูลที่ถูกต้องในการดูแลเด็ก เพื่อขจัดความเข้าใจผิดต่างๆ ของผู้ปกครองที่คิดว่าเด็กดื้อ และเพื่อให้เด็กเข้าใจว่าปัญหาที่ตนเองมีนั้นไม่ใช่ว่าตนเองเป็นคนไม่ดี
  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ด้วยหลัก ลดสิ่งเร้า เพิ่มสมาธิ เพิ่มการควบคุมตนเอง จะช่วยให้เด็กมีสมาธิ ดีขึ้น มีความอดทน และควบคุมตนเองได้ดี
  • การช่วยเหลือด้านการศึกษา

           ผู้ปกครอง ควรเอาใจใส่ในเรื่องการเรียน ประสานงานกับคุณครูอย่างสม่ำเสมอ เพื่อการจัดการเรียนให้เหมาะสมกับเด็กตามศักยภาพ

          ครูผู้สอน สามารถช่วยเหลือได้ตามแนวทางดังนี้

  • ด้านการเรียน ครูควรช่วยจัดระบบการเรียนการสอนไม่ให้ซับซ้อน ตารางเรียนแน่นอน หากมีการเปลี่ยนแปลงต้องแจ้งให้ทราบและเตือนความจำทุกครั้ง และจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับเด็ก เด็กในชั้นเรียนไม่ควรเกิน 20 คน จัดทำกฎระเบียบที่ชัดเจน และทบทวนข้อตกลงบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการตกแต่งห้องเรียนด้วยสีสันสดใส เนื่องจากทำให้เด็กสนใจสิ่งเร้านั้นมากกว่าสิ่งที่ครูสอน มอบหมายงานอย่างชัดเจน และไม่ควรใช้วาจาตำหนิ หรือ ทำโทษ ประจานเด็กต่อหน้าเด็กคนอื่น เมื่อเด็กทำความผิด ใช้วิธีการตัดคะแนน ลดเวลาพัก ทำความสะอาดห้อง ให้แรงเสริมทางบวก กล่าวชมเชยเมื่อเด็กทำดี ส่งงานตรงตามกำหนด เพื่อช่วยให้เด็กสมาธิสั้นประสบความสำเร็จในการเรียนตามศักยภาพ เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง

     
  • ด้านสังคม สอนให้เรียนรู้ทักษะทางสังคมที่จำเป็นต่อการปรับตัวอยู่ร่วมกับผู้อื่นของเด็กสมาธิสั้น ช่วยให้เด็กสมาธิสั้นมีเพื่อน โดยการสังเกต เพื่อค้นหาปัญหาในการเข้าสังคมกับเพื่อน หากิจกรรมกลุ่มให้ทำร่วมกันเกิดการเรียนรู้การอยู่ร่วมกับเพื่อน โดยกิจกรรมนั้นต้องมีขั้นตอนที่ชัดเจน โดยมีครูคอยควบคุม รวมถึงจัดเพื่อนช่วยดูแลเด็กสมาธิสั้นโดยต้องเป็นเด็กที่เข้าใจกัน คอยเตือนความจำ สอนการบ้าน ช่วยชี้แนะสิ่งที่ถูก

 

เราจะแยกสมาธิสั้นแท้ กับ สมาธิสั้นเทียมได้อย่างไร

  • เด็กสมาธิสั้นเทียม เมื่อได้รับการดูแลแก้ไข ปรับพฤติกรรมแล้ว อาการเหล่านั้นจะหายไป
  • เด็กสมาธิสั้นแท้ เมื่อได้รับการดูแลแก้ไข ปรับพฤติกรรมแล้วมีอาการดีขึ้น ควบคุมตนเองได้ แต่ยังมีอาการอยู่ ยังต้องได้รับการดูแลและกินยาอย่างต่อเนื่อง

การใช้ยาในเด็กสมาธิสั้น 

การใช้ยาสามารถช่วยให้สมาธิของเด็กดีขึ้น  โดยการออกฤทธิ์ปรับระดับสารเคมีในสมองให้สมดุลอยู่ในระดับที่สมองจะทำหน้าที่ได้ดีขึ้น  ช่วยให้เด็กมีความจดจ่อในการทำงานเพิ่มมากขึ้น พร้อมที่จะเรียนรู้ ซนน้อยลง ดูสงบลง มีความสามารถในการควบคุมตัวเอง และควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น แต่จะเป็นเพียงช่วงที่ยาออกฤทธิ์เท่านั้น 

ดังนั้นการใช้ยาเพื่อช่วยให้สมาธิดีขึ้นจึงจำเป็นต้องผสมผสานกับการปรับพฤติกรรมร่วมด้วยจึงจะได้ผลดี

ปัจจุบันมียาหลายชนิดที่ใช้ในการรักษาโรคสมาธิสั้น โดยมีกลุ่มยาหลัก  2 กลุ่ม ได้แก่

  1. กลุ่มยาออกฤทธิ์กระตุ้น  ได้แก่ methylphenidate
  2. กลุ่มยาออกฤทธิ์ไม่กระตุ้น เช่น ยาต้านซึมเศร้าบางชนิด, ยาลดความดันบางชนิด

ตัวยาหลักและเป็นยาตัวแรกที่แพทย์จะเลือกใช้คือ Methylphenidate เป็นยาในกลุ่มออกฤทธิ์กระตุ้น      

ที่ได้ผลดีที่สุดสำหรับโรคสมาธิสั้น การวิจัยในปัจจุบันพบว่ายา methylphenidate  มีผลทำให้ความผิดปกติของสมอง ทางด้านโครงสร้างและการทำงานที่บกพร่อง เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งผู้ป่วยแต่ละคนจะตอบสนองต่อยาไม่เหมือนกันทำให้จะได้รับยาในขนาดที่ไม่เท่ากันและเกิดอาการข้างเคียงแตกต่างกันได้ ดังนั้นกรณีที่ผู้ป่วยพบปัญหาจากการใช้ยา การปรับยา หยุดยาหรือเปลี่ยนยาจึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น

หากเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นไม่ได้รับการรักษาและดูแลช่วยเหลือจะเป็นอย่างไร

-วัยประถม ผลการเรียนจะต่ำกว่าความสามารถจริง เด็กอาจมีอารมณ์ซึมเศร้า ขาดความมั่นใจในตนเอง เนื่องจากจะได้รับความกดดันจากทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน
-วัยรุ่น มีพฤติกรรมต่อต้าน ก้าวร้าว โกหก ลักขโมย หนีเรียน ในบางรายเริ่มใช้ยาเสพติด มีผลการเรียนต่ำเนื่องจากเกิดความเบื่อหน่ายในการเรียน และต้องออกจากโรงเรียน เป็นปัญหาสังคมตามมา

สถานการณ์สมาธิสั้นในประเทศไทย

ผลสำรวจของกรมสุขภาพจิต เมื่อปี 2559 พบเด็กป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นร้อยละ 5.38 หรือประมาณ 2-3 คน ในห้องเรียนที่มีเด็ก 50 คน  หากพบว่าลูกมีอาการขาดสมาธิ หุนหันพลันแล่น หรืออยู่ไม่นิ่ง ให้ผู้ปกครองรีบนำบุตรหลานพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษา เนื่องจากหากไม่ได้รับการรักษาเมื่อโตขึ้นเด็กสมาธิสั้นมีโอกาสกลายเป็นวัยรุ่นเกเร และต่อต้านสังคมได้มากกว่าเด็กปกติ 3-4 เท่าตัว จะควบคุมอารมณ์ ความต้องการของตัวเองได้น้อย เสี่ยงถูกชักจูงให้ใช้สารเสพติดได้ง่าย เป็นปัญหาสังคมต่อไป

                                     --------------------------             

บรรณานุกรม

1.เด็กสมาธิสั้น . ใน : คู่มือเด็กที่มีความต้องการพิเศษ สถาบันราชานุกูล. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : บียอนด์ พับลิสชิ่ง , 2558 : 5-9

2.เด็กสมาธิสั้น คู่มือสำหรับพ่อแม่/ผุ้ปกครอง สถาบันราชานุกูล. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : บียอนด์ พับลิสชิ่ง , 2555

3.เด็กสมาธิสั้น คู่มือสำหรับครู สถาบันราชานุกูล. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย , 2558

อ่านเพิ่มเติม

ผลการสำรวจสถานการณ์ระดับสติปัญญา (IQ) และความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) เด็กไทยวัยเรียน และ ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ปี 2559 สถาบันราชานุกูล


คณะผู้จัดทำ/เรียบเรียง

  1. แพทย์หญิงเปรมวดี เด่นศิริอักษร นายแพทย์เชี่ยวชาญ
  2. นางพัณณพัฒน์  พรรณ์แผ้ว  เภสัชกรชำนาญการ
  3. นางณัฐชนก สุวรรณานนท์ นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ
  4. นางสาวศันสนีย์ กาญจนวีรวิทย์ นักประชาสัมพันธ์


 

 

 

  View : 69.27K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 0
 เมื่อวาน 13
 สัปดาห์นี้ 62
 สัปดาห์ก่อน 97
 เดือนนี้ 345
 เดือนก่อน 536
 จำนวนผู้เข้าชม 476,781
  Your IP : 3.238.118.192